บทที่ 8 เทคนิคการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย
BSC, Significant Technique for organization manangment
เมื่อต้องเอ่ยถึง BSC ในยุคปัจจุบันนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่รู้จัก เพราะทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำ BSC เข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ โดยอาศัย KPI เป็นกลไกวัดความสำเร็จขององค์กรอีกครั้งหนึ่ง BSC ย่อมาจากคำว่า Balanced Scorecard เป็นระบบการจัดการขององค์กร โดย Robert Kaplan และ David Norton ได้พัฒนาระบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและยังเป็นเครื่องมือในการบริหารที่ช่วยทำให้องค์กรมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับกลยุทธ์มากขึ้น
KPI ย่อมาจากคำว่า Key Performance Indicator ตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานเป็นเครื่องมือหรือดัชนีที่ใช้ ในการวัดหรือประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ขององค์กรว่าเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าเครื่องมือการบริหารจัดการ ที่เรียกว่า BSC จะเป็นที่ยอมรับจากองค์กรชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก ว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการและการที่องค์กรจะนำมาใช้ให้ประสบความสำเร็จนั้น คงไม่เป็นเรื่องที่ง่ายนักและบทความนี้จึงนำเสนอเทคนิคของการนำ BSC และ KPI ที่สำคัญในการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการบริหาร จัดการองค์กร ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก ดังต่อไปนี้
1. ขั้นตอนการวางแผน (planning)
การจัดทำแผนนับเป็นขั้นตอนสำคัญในการบริหารจัดการ ซึ่งหากองค์กรมีการวางแผนที่ดี จะช่วยให้รู้จักตนเอง รู้จักคู่ต่อสู้ได้ดียิ่งขึ้น ดังคำกล่าวของซุนวู (Zun Tsu) ที่ว่า "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง"สิ่งสำคัญที่ช่วยให้การจัดทำแผนประสบความสำเร็จ คือการกำหนดตัวชี้วัด (KPIs) โดยตัวชี้วัดที่จัดทำขึ้นจะต้องครอบคลุมมิติต่าง ๆ ขององค์กร ทั้งองค์กรที่เป็นหน่วยงานภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน ซึ่งแต่ละองค์กรมีมิติที่แตกต่างกัน
2. ขั้นตอนการนำแผนไปปฏิบัติ (implementation)
เมื่อได้ดำเนินการจัดทำแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งก็คือการนำแผนไป ไปปฏิบัติ การสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้นำองค์กรจะต้องดำเนินการ โดยการจัดประชุมเพื่อชี้แจงนโยบายและจุดมุ่งหมายขององค์กรให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรรับทราบและเข้าใจ เมื่อผู้บริหารระดับสูงเข้าใจ ถึงแผนการดำเนินงานแล้วก็จะต้องดำเนินการสื่อสารให้ผู้บริหารระดับรองลงมาทราบ ผู้บริหารระดับรองลงมา ก็ต้องไปสื่อสารให้ผู้บริหารระดับหน่วยงานเป็นทอด ๆ ตามลำดับลงไปจนกระทั่งถึงพนักงานทุกคนในองค์กร
3. ขั้นตอนการติดตามและประเมินผล (monitoring and evaluation)
ขั้นตอนนี้มีความง่ายมากขึ้นเพราะได้ผ่านขั้นตอนการวางแผนและการนำแผนไปปฏิบัติ เนื่องจากการใช้ BSC และ KPI มีส่วนช่วยให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เมื่อทราบ KPI แล้วก็จะสามารถติดตามและประเมินผลตาม KPI ที่ได้กำหนดไว้ให้บรรลุตามเป้าหมาย
4. ขั้นตอนการปรับปรุงมาตรฐานขององค์กร (standardization)
เมื่อได้ทราบผลการดำเนินงานจากการติดตามและประเมินผลเรียบร้อยแล้ว องค์กรจะต้องนำผลการดำเนินงานที่ได้มาปรับปรุงมาตรฐาน ถ้าผลการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายองค์กรก็ต้องยกระดับเป้าหมายให้สูงขึ้นไปอีก แต่ถ้าผลการดำเนินงานยังต่ำกว่าเป้าหมาย องค์กรก็ต้องหาทางปรับแผน ปรับวิธีการทำงานเพื่อให้สามารถทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายให้ได้
การที่องค์กรจะประสบความสำเร็จในการนำ BSC มาใช้นั้นไม่ใช่เรื่องยากนักหาก
1. ผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารระดับสูงได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยการที่ผู้นำองค์กรจะต้องเป็นผู้ริเริ่มนำแนวคิด BSC มาใช้ นำการเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้มีการนำแนวความคิดของ BSC มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ลงมือปฏิบัติเองเพราะจะเป็นหลักประกันว่าการใช้ BSC จะเป็นไปอย่างเอาจริงเอาจัง
2. ทุกคนภายในองค์กรรับรู้และให้การสนับสนุนในการนำระบบ BSC มาใช้ในองค์กร
3. ใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลงาน โดยให้ทุกหน่วยงานกำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (KPI) ที่เป็นรูปธรรม สื่อสารให้ทุกคนเข้าใจอย่างถูกต้องว่างานทุกชนิด พนักงานทุกคน ไม่ว่าทำงานฝ่ายใด สามารถวัดผลงานได้
4. ไม่กำหนดตัวชี้วัดให้ยากหรือง่ายเกินไป ทั้งนี้หากกำหนดตัวชี้วัดที่ง่ายแต่ไม่เป็นตัวชี้วัดที่ดีและท้าทาย เช่นเดียวกันกับการกำหนดตัวชี้วัดที่ยากแต่ไม่สามารถที่จะทำให้บรรลุได้
5. มีการสื่อสารและทำความเข้าใจกับพนักงานอยู่ตลอดเวลา
หลักสำคัญของ BSC คือ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการบริหารจัดการและการวัดผลงาน เมื่อองค์กรได้นำเทคนิคทั้ง 4 ของ BSC เข้ามาใช้ในองค์กรแล้ว จะละเลยเสียขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งมิได้เลย ทั้งนี้เพราะเป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จของการบริหารจัดการองค์กร และการที่จะเอาชนะคู่แข่งอื่น ๆ ได้นั้นองค์กรจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานให้สูงกว่ามาตรฐานของคู่แข่งตลอดเวลาอีกด้วย
ที่มา
- วัฒนา พัฒนาพงศ์. (2547). BSC และ KPI เพื่อการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน. กรุงเทพฯ : แปซิฟิค
- พสุ เดชะรินทร์. (2546). เส้นทางจากกลยุทธ์สู่การปฏิบัติด้วย Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สิทธิศักดิ์ พฤกษ์ปิติกุล. (2546) การบริหารกลยุทธ์และผลสัมฤทธิ์ขององค์กรด้วยวิธี Balanced Scorecar. กรุงเทพฯ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
-นางเจนจิรา วิศพันธ์. เทคนิค BSC ที่สำคัญต่อการบริหารจัดการองค์กร. ค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2553. จากเว็บไซต์ http://hadonjx110.blogspot.com/2009/09/bsc.html
บทที่ 7 การพัฒนาองค์การไปสู่องค์กรเรียนรู้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
มาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง
ประชาชนชาวไทยคงจะคุ้นเคยกับคำว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” กันมานานแล้ว เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบทความเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ให้กับพสกนิกรชาวไทยเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2547 ที่ผมเริ่มทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจให้กับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น ความเข้าใจของการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำรงชีวิต มักจะอยู่ในภาคเกษตรกรรมหรือในหมู่คนยากคนจนต่างจังหวัด แต่เป็นที่น่าดีใจว่า จากการสำรวจความเห็นล่าสุดโดย กลุ่มวิจัยภาวะผู้นำ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อต้นปี 2554 โดยการสุ่มตัวอย่างผู้บริหารสูงสุดขององค์กรธุรกิจทั่วประเทศไทยจำนวน 298 ท่าน ปรากฏว่า 88 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหารเหล่านี้ เชื่อว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในองค์กรธุรกิจ
เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนม์พรรษาครบ 84 พรรษาในปีนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มีดำริให้ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Business Standard หรือ SEBS) ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในการเก็บข้อมูลจากนักธุรกิจทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อใช้มาตรฐานนี้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่ส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับมาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงที่พัฒนาขึ้นนี้ แตกต่างจากมาตรฐานธุรกิจที่มีอยู่ทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะใช้ค่านิยมร่วมแห่งองค์กรเป็นหลักในการตัดสิน เพราะค่านิยมร่วมนี้เองที่เป็นตัวกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนการดำเนินงานทุกด้านขององค์กรธุรกิจ ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” นั่นเอง นอกเหนือจากนี้แล้วมาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ยังได้ผ่านการระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนและภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และยังได้ผ่านการทดสอบทางสถิติว่ามีความสามารถในการพยากรณ์ความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้จริงในหมู่องค์กรธุรกิจจำนวน 298 องค์กรทั่วประเทศไทยด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากมาตรฐานอื่น ๆ ที่มักจะจบลงแค่การระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น
จากการวิจัย ค่านิยมร่วมที่เป็นรากฐานของมาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงมีอยู่ 7 ค่านิยมด้วยกัน คือ ภูมิคุ้มกัน ความเพียร ความพอประมาณ ความโอบอ้อมอารี จริยธรรม การพัฒนาภูมิสังคม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย จากการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า ค่านิยมร่วมเหล่านี้มีส่วนทำให้องค์กรธุรกิจมีความสามารถในการให้ผลการดำเนินงานที่แข่งขันได้ ฝ่าฟันความยากลำบากทางเศรษฐกิจและสังคม และสร้างประโยชน์สุข ซึ่งความสามารถทั้งสามด้านนี้มีความสำคัญมากต่อองค์กรธุรกิจในการที่จะอยู่รอดได้ในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันและในอนาคต
คำถามต่อมาในใจหลายคนก็คือ เราจะทราบได้อย่างไรว่าองค์กรไหนมีค่านิยมร่วมเหล่านี้หรือไม่ ในการพัฒนามาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงครั้งนี้ เราได้ทำการวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อกำหนดตัวชี้วัดของค่านิยมร่วมต่างๆ เหล่านี้ด้วย ตัวอย่างเช่น ค่านิยมร่วมเรื่องภูมิคุ้มกันนั้น จะครอบคลุมถึงตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ เช่น การพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านสินค้า บริการ และกระบวนการในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การวางแผนเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการตลาดอยู่ตลอดเวลา การบริหารความรู้ในองค์กรอย่างเป็นระบบ และการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ หากองค์กรธุรกิจที่การดำเนินงานในด้านต่างๆ เหล่านี้ ก็จะถือว่าตรงกับมาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง
ในส่วนของค่านิยมร่วมด้านความเพียรนั้น สามารถตัดสินได้จากพนักงานเป็นหลัก เช่น พนักงานไม่ถอดใจเมื่อเจอปัญหายากๆ พนักงานเป็นผู้ที่มีเป้าหมายในการทำงาน พนักงานพยายามแก้ไขปัญหาของบริษัทอย่างดีที่สุด ไม่ใช่ทำแบบขอไปที หรือพนักงานพยายามทำดีที่สุดเพื่อให้ลูกค้ามีความพอใจสูงสุด เหล่านี้เป็นต้น สำหรับค่านิยมร่วมเรื่องความพอประมาณนั้น สามารถพิจารณาได้จากนโยบายและผลการดำเนินงานของบริษัทเองว่า ต้องการทำกำไรสูงสุดในระยะสั้นหรือไม่ และผู้บริหารเช่นใดที่ถือว่าเป็นผู้บริหารที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในบริษัท ระหว่างผู้ที่ทำกำไรสูงสุดในระยะเวลาที่สั้นที่สุด หรือผู้ที่ทำกำไรพอประมาณแบบไม่หวือหวา โดยพิจารณาความเสี่ยงรอบด้านแล้ว เป็นต้น ในเรื่องค่านิยมร่วมด้านความโอบอ้อมอารีนั้น ตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุดคือ ความเต็มใจที่จะแบ่งปันกับคู่แข่งหรือไม่ เนื่องจากการแบ่งปันกันระหว่างคู่แข่งดังกล่าวเป็นการเอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะการแบ่งปันกันระหว่างคู่แข่งทำให้เกิดการพัฒนาตลาด สิ้นค้าบริการดีขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนจำนวนมากขึ้นสามารถซื้อสินค้าดีๆ ได้เพราะราคาถูกลง ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีรายได้สูงแต่เพียงกลุ่มเดียวที่จะสามารถซื้อสินค้าคุณภาพดี ๆ ได้
สำหรับค่านิยมร่วมทางด้านจริยธรรมนั้น จะดูจากพฤติกรรมของพนักงานในองค์กรเป็นหลัก เพราะถือว่าเป็นตัวจักรสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ที่เน้นมากคือพนักงานชอบพูดเท็จเพื่อให้ตัวเองพ้นความผิดหรือไม่ หรือว่าพนักงานชอบปัดความรับผิดชอบของตนให้แก่ผู้อื่นหรือไม่ หากพนักงานมีพฤติกรรมเช่นนี้ การดำเนินธุรกิจโดยรวมคงไม่มีจริยธรรมแน่นอน ส่วนค่านิยมร่วมถัดมาที่ประกอบเป็นมาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงคือ ค่านิยมร่วมด้านการพัฒนาภูมิสังคม สำหรับตัวชี้วัดของค่านิยมนี้จะครอบคลุมถือ การดำเนินธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการลงทุนเพื่อรักษาและพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมไทยอย่างเป็นระบบ โดยไม่เกรงว่ากำไรจะน้อยลงในระยะสั้นนั่นเอง
สำหรับค่านิยมร่วมสุดท้ายคือค่านิยมร่วมด้านการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายเกินกว่า เจ้าของ ผู้ถือหุ้น พนักงานและลูกค้าเท่านั้น ตัวชี้วัดสำหรับค่านิยมด้านนี้ รวมถึงทัศนคติของผู้บริหารเกี่ยวกับการลงทุนในการพัฒนาพนักงาน การคำนึงถึงผลกระทบของการดำเนินธุรกิจของตนต่อสาธารณชน การทำกิจกรรมด้านซีเอสอาร์อย่างเป็นระบบ เป็นต้น
ประโยชน์ของมาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงที่สำคัญที่สุด คือทำให้องค์กรธุรกิจมีเครื่องมือที่จะใช้ในการประเมินตนเอง กำหนดจุดอ่อนของตน เพื่อแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาองค์กรธุรกิจไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาวนั่นเอง นอกจากนี้แล้วองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ก็สามารถนำเอามาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไปใช้ในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อก่อในเกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เช่น กระทรวงการคลัง อาจพิจารณาลดภาษีให้กับธุรกิจที่มีมาตรฐานเศรษฐกิจพอเพียง เพราะแท้จริงแล้วองค์กรธุรกิจเหล่านี้ก็มีส่วนร่วมในการแบบรับภาระของภาครัฐในการช่วยพัฒนาสังคม หรือธนาคารต่างๆ อาจพิจารณาให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำแก่ธุรกิจที่มีมาตรฐานเศรษฐกิจพอเพียง หากมีการส่งเสริมธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงโดยแพร่หลายแล้ว ในที่สุดแล้วก็จะนำมาซึ่ง “ประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อย่างแท้จริง ซึ่งน่าจะเป็นของขวัญที่มีค่าที่สุดของพสกนิกรชาวไทยที่จะทูลเกล้าถวายให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ที่กำลังจะมาถึง
ทีมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุขสรรค์ กันตะบุตร ผู้อำนวยการโครงการพัฒนามาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
บทที่ 6 วิเคราะห์ผลกระทบต่อการบริหารจัดการ
ผลกระทบในทางบวกต่อประเทศไทย
เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์ในทางบวกหรือผลดีที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยเน้นย้ำกันเป็นพิเศษ จะมีดังนี้ คือ
ประการแรก ก็คือ จะมีตลาดสินค้าและบริการที่ใหญ่ขึ้น นักธุรกิจไทยจะมีตลาดการค้าที่ใหญ่ขึ้น เพราะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 580 ล้านคน เพราะทั้ง 10 ประเทศนี้ต่างก็มีจำนวนมหาศาลพอสมควร โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรประมาณ 220 ล้านคน บวกกับ ฟิลิปปินส์ ประมาณ 87 ล้านคน เวียดนาม 84 ล้านคน ไทยอีกประมาณ 63 ล้านคน เหล่านี้เป็นต้น นับว่าจะการเพิ่มโอกาสทางการค้าเนื่องจากมีขนาดตลาดที่ใหญ่โตขึ้น และจะเอื้อให้การผลิตในลักษณะที่ผลิตมากขึ้นต้นทุนต่ำลงย่อมมีโอกาสมากขึ้นด้วย (Economies of Scale) แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ แต่ละประเทศก็ต้องออกแรงขยันหาตลาดและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการหาลูกค้าเช่นกันกลยุทธ์ในด้านการตลาดการหาลูกค้าจะต้องทบทวนกันใหม่ เพราะลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาในประเทศย่อมนำกลยุทธ์ที่เขาเคยประสบความสำเร็จหรือเหนือกว่าเราออกมาใช้และจะมีการนำวัฒนธรรมในการบริโภคสินค้าเข้ามาให้นักการตลาดของเราได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม เราต้องเรียนรู้พฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการตลอดจนลูกเล่นทางการค้าของเขา รวมทั้งความเชื่อต่างๆ การปรับตัวของธุรกิจภายในประเทศจะต้องทันต่อเหตุการณ์และสภาพของตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครปรับตัวหรือมีการเตรียมการที่ดีย่อมได้ผลในทางบวกแต่ในทางตรงกันข้ามหากพ่อค้าของเราปรับตัวช้า จะสูญเสียโอกาสและอาจจะสูญเสียฐานของลูกค้าเดิมไปด้วยเช่นกัน
ประการที่สอง ประเทศไทยจะได้อานิสงส์ ในการที่จะกลายมาเป็นเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุน เงินลงทุน จากต่างประเทศได้มากขึ้นเพราะต่อไปนี้การขยายการลงทุนจากต่างประเทศมาไทยจะกระทำได้ง่ายขึ้น หากเป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ และประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆ หลายประการโดยเฉพาะทัศนคติของคนไทยที่มีต่อนักลงทุนชาวต่างชาตินั้นดีมาก แม้ว่าบางครั้งการลงทุนของต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยไม่ได้ก่อให้เกิดราย ได้แก่ ชุมชน การจ้างงาน หรือการนำเทคโนโลยีมาช่วยประเทศไทยเลย แต่คนไทยก็ไม่เคยรังเกียจนักลงทุนเหล่านี้ เหมือนดังประเทศอื่น อีกทั้งระเบียบกฎเกณฑ์ด้านการลงทุน ประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่าเปิดโอกาสมากกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ แม้กระทั่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวหรือพม่า เป็นต้น กลยุทธ์ในด้านการลงทุนและการเงิน ของประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้ทันกาลการเข้ามาของต่างชาติ การเปิดเสรีมากเกินไปนอกจากจะทำให้ฐานะของประเทศไทยเกิดความเสี่ยงมากขึ้นแล้ว ไทยจะไม่สามารถหาประโยชน์ได้มากเหมือนแต่ก่อนที่ยังไม่เปิดเสรีในด้านนี้ กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐด้านการลงทุนและการเงินจะต้องรื้อปรับระบบกันใหม่ (Reengineering) ในขณะนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศได้รับผลดีอย่างเต็มที่และต้องหามาตรการในการลดความเสี่ยงในด้านการลงทุนและการเงิน ทุกรูปแบบ แต่มิใช่เป็นการสกัดกั้นอย่างมีอคติต่อนักลงทุนชาวต่างชาติเช่นกัน ทั้งนี้ รวมทั้งกฎหมายที่ว่าด้วยการถือครองอสังหาริมทรัพย์เช่น ที่ดินเป็นต้น มิฉะนั้นแล้ววันข้างหน้าคนไทยจะไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ธุรกิจก็เป็นธุรกิจของต่างชาติที่เข้ามามีบทบาททำให้ธุรกิจท้องถิ่นที่มีมาแต่ช้านานสูญหายไปหมด โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย
ประการที่สาม การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสามารถทำให้ประเทศไทยมีอำนาจในการเจรจาต่อรองต่อเวทีโลกได้มากขึ้น เพราะต่อไปนี้จะมีฐานประชาคมอาเซียนสนับสนุนอยู่และไม่ใช่ไปแบบโดดเดี่ยวเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งสามารถทำให้ประเทศคู่ค้าต้องรับฟังมากขึ้น เพราะดีไม่ดีอาจจะไปกระทบกับประชาคมอาเซียนไปด้วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกของประชาคมประเทศหนึ่งกลยุทธ์ที่จะช่วยได้อาจเป็นไปในรูปการสร้างและการขยายเครือข่ายโดยมีพันธมิตรคู่ค้าที่เป็นนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มอาเซียนเพื่อจะเป็นฐานหรือตัวช่วยในการเจรจาต่อรองมากขึ้น ทั้งนี้ โดยอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกันและภายใต้ความเป็นธรรมและเสมอภาค รวมทั้งการเรียนรู้เทคนิคในการเจรจาต่อรองในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องต่อประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ
ประการที่สี่ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะทำให้นักธุรกิจไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจและการค้ามีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้ดีขึ้นจากเดิม เพื่อการรองรับการแข่งขัน และสามารถนำมาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พร้อมจะออกไปเพื่อการแข่งขัน รวมทั้งประเทศไทยสามารถเรียนรู้เทคนิคด้านต่างๆ ของประเทศในกลุ่มนี้มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้าน การผลิต การตลาด การขนส่งและโลจิสติกส์ การจัดการ การเจรจาต่อรอง การเงิน การท่องเที่ยว การเดินอากาศ และอื่นๆ กลยุทธ์ที่เหมาะสมในประเด็นนี้ ก็คือ เราต้องหาเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดำรงความเหนือกว่าให้ได้ การลงทุนพัฒนาและการวิจัยในด้านเทคโนโลยีของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหนทางในการอยู่รอดและสร้างความได้เปรียบในด้านการแข่งขัน ภาครัฐต้องเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาในด้านการผลิตและการบริการและต้องมาช่วยภาคเอกชนในทุกวิถีทาง เพราะหากปล่อยให้ภาคเอกชนกระทำการแต่เพียงฝ่ายเดียวจะไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว เนื่องจากขาดงบประมาณและความร่วมมือของหน่วยงานราชการ การสร้างนวัตกรรมของประเทศไทยจะเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างความแตกต่างและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทยในวันข้างหน้าเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ประการที่ห้า จะมีผลต่อการจ้างแรงงานเพราะสามารถเข้าโรงงานอุตสาหกรรมที่ให้ค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าเดิม รวมทั้งการออกไปหารายได้เพิ่มขึ้นจากค่าแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนสถานประกอบการสามารถที่จะสร้างรายได้ของสถานประกอบการให้มากขึ้นจากการขยายตลาดและการเพิ่มปริมาณลูกค้ามากขึ้น และในที่สุด ก็จะมีผลต่อรายได้ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทยดีขึ้นรวมทั้งการได้รับสินค้าและการบริการที่ดีขึ้นหรือมีตัวเลือกและทางเลือกมากขึ้นจากเดิมกลยุทธ์ที่เหมาะสมในประเด็นนี้ ก็คือ การเพิ่มทักษะในด้านภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ที่เคยมีมาแต่ก่อน แต่จำเป็นที่จะต้องมีการเรียนการสอนด้านภาษามาเลย์ ภาษาเวียดนาม ภาษาเขมร ลาว และภาษาพม่าให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในประเด็นนี้ผู้เขียนได้ทราบว่าประเทศมาเลเซียได้มีการเรียนการสอนภาษาไทยกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเพื่อการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะ ดังนั้น ภาครัฐไม่ว่าจะเป็นระดับประถม มัธยม สายวิชาชีพ หรือแม้กระทั่งระดับอุดมศึกษาก็น่าที่จะมีการปรับตัวเตรียมการกันได้แล้ว เพราะเรื่องของภาษาเป็นเรื่องของการใช้เวลาและการฝึกหัดที่ต้องกินเวลาพอสมควรเพื่อให้ได้ผลดี ในส่วนการศึกษาของภาคเอกชนโดยเฉพาะสถานศึกษาภาคเอกชนก็ควรปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเตรียมการผลิตนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีความพร้อมในด้านนี้ออกไปเช่นกัน
ประการที่หก เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็เท่ากับว่าต่อไปนี้จะมีการปรับปรุงแรงงานฝีมือในสาขาวิชาชีพต่างๆ (7 วิชาชีพ) ให้เท่าเทียมนานาประเทศ สาขาวิชาชีพเหล่านี้ ได้แก่ วิศวกร แพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักสำรวจ ทันตแพทย์ และผู้ประกอบวิชาชีพ สถาปนิก เพราะสาขาวิชาชีพเหล่านี้เป็นสาขาวิชาชีพหน้าด่านของไทยที่มีความพร้อมสูง มีสมาคมและการรวมตัวที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ และเป็นสมาคมที่ประชาคมอาเซียนได้ยกมาเป็นกลุ่มแรกของไทยที่จะมีการวางกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ หากจะมีคนในประเทศสมาชิกเข้ามาทำงานในกลุ่มวิชาชีพทั้งเจ็ดนี้ในไทย แต่ในทางกลับกันหากคนไทยที่ทำงานในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้ยังไม่พร้อมในการปรับตัว ปัญหาก็จะตกมาสู่พวกเขาเช่นกัน ในประเด็นนี้ข้อสรุป ก็คือ การเปิดให้ผู้ประกอบอาชีพที่มีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการประสานงานวิชาชีพสาขาต่างๆ ทั้ง 7 สาขา (ASEAN Joint Coordinating Committee) และหน่วยงานที่กำกับดูแลวิชาชีพหรือองค์การระดับประเทศสมาชิกต่างๆ หรือสภาวิชาชีพ (Professional Regulatory Authority) หรือกระทรวง/องค์การที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก ขึ้นทะเบียนหรือออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพชาวต่างชาติเข้ามาประกอบวิชาชีพในประเทศอาเซียนได้ โดยต้องปฏิบัติตามกฎและระเบียบภายในประเทศนั้นๆ ในทำนองกลับกันหากคนไทยที่ประกอบวิชาชีพเหล่านี้ ก็สามารถที่จะไปทำงานยังประเทศอื่นที่มีค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการไทย หรือแรงงานไทยก็จะมีโอกาสออกไปลงทุนหรือทำงานในต่างประเทศมากขึ้น และได้รับค่าตอบแทนที่สูงจากเดิมกลยุทธ์ที่ควรนำมาพิจารณาในประเด็นนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ความรู้ในด้านภาษาของคนในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว สามารถสื่อสารได้หลายภาษามากขึ้นจากแต่เดิม รวมทั้งเทคนิคและวิธีการใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพในด้านนั้นๆ ที่จะต้องนำมาเสริมเพิ่มเติมความรู้ให้มากขึ้นจากเดิม รวมทั้งกลยุทธ์ในด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่หาหนทางจูงใจให้คนดีและคนเก่งอยู่ในองค์การของเราให้นานที่สุด ศาสตร์ในด้านการรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าไว้ในองค์การหรือ Talent Management ควรจะถูกหยิบยกมาพิจารณาและให้ความสำคัญมากขึ้น มิฉะนั้น จะเกิดเหตุการณ์สมองไหลไปสู่องค์การของต่างชาติทั้งในและนอกประเทศไทยกันหมด
ประการที่เจ็ด ประเทศไทยสามารถอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือกันในภาคเศรษฐกิจหรือ AEC นี้ เข้าไปเสริมสร้างความสัมพันธ์ในด้านการเมือง การปกครองการป้องกันประเทศให้ดีขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและลดข้อขัดแย้งต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็น พม่า กัมพูชา หรือประเทศอื่นๆ โดยผ่านความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเป็นหัวหอกเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตและจะช่วยให้ด้านอื่นๆ มีสัมพันธภาพอันดีตามมาในที่สุดกลยุทธ์ที่เหมาะสมคือการเรียนรู้และการปรับตัวโดยอาศัยการศึกษาและการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการวัฒนธรรมข้ามชาติหรือที่เรียกว่า Cross Cultural Management มาเป็นหลักเพื่อให้เกิดการผนึกความร่วมมือร่วมใจ ปรองดองกันระหว่างคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ร่วมกันโดยปราศจากข้อขัดแย้งทางด้าน สังคม เศรษฐกิจและการเมือง
ที่มา : รศ. ดร. จุฑา เทียนไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น