หน้าเว็บ

นางสาวกอบทอง หนูสันทัด 224


บทที่ 11 การบริหารจัดการธุรกิจสีเขียวและการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต

ความหมายของ ‘Green Business’

ธุรกิจสีเขียวหมายถึง องค์กรที่ประกอบธุรกรรมโดยมีปณิธานในการทำงานที่มุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายของโลกมนุษย์ อาทิ อากาศ ต้นน้ำ ลำธาร ป่าไม้ สัตว์ป่า พืชพันธุ์ธัญญาหาร แมลง ฯลฯ มีชีวิตอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศวิทยาที่ดีที่สุดและอย่างยั่งยืนที่สุด การดำเนินธุรกิจหรือแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา ล้วนมีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อยอยู่ทุกนาที แค่อยู่กับบ้านทำอาหาร อาบน้ำแต่งตัว เข้านอน ฯลฯ ก็ล้วนสามารถสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลา

แนวโน้มของการพัฒนาแนวคิดกรีนหรือโลกสะอาดยังคงเป็นสิ่งที่หลายคนอยากเห็นว่าจะดำเนินไปอย่างไรในอนาคต จึงมีนักวิจัยหลายสำนักออกมาพยากรณ์เกี่ยวกับแนวโน้มของโกลบอล กรีนกันตั้งแต่ต้นปี 2012

อย่างเช่นสถาบันที่มีชื่อว่าเดอะ สเปนเซอร์ อินสติ The Spencer Institute ได้เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มของการดำเนินชีวิตแบบกรีนและการดำรงอยู่แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในปี 2012 ไว้ว่าชีวิตในอนาคตยังคงเน้นความพยายามที่จะอยู่แบบกรีนมากขึ้นกว่าเดิม โดยคาดว่าจะเน้นในด้านอาหาร ไลฟ์สไตล์ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนของการเติบโตแบบกรีนมากขึ้น ทำให้สีของปี 2012 ยังคงเป็นสีเขียว และแนวคิดกรีนไม่ใช่เพียงแนวโน้มของโลกอีกต่อไป

กรีนไลฟ์สไตล์

กรีนไลฟ์สไตล์หมายถึงการดำรงชีวิตประจำวันแบบกรีน โดยเฉพาะความพยายามดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่เจ็บไม่ไข้ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินประกันสุขภาพที่แพงขึ้น และการเก็บภาษีด้านการรักษาพยาบาลมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มความตั้งใจในการลดการเบียดเบียนโลกและสิ่งแวดล้อมแนวคิดแบบนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจะประหยัด พร้อมทั้งเยียวยาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์ แข็งแรงมากขึ้น พร้อมกับแรงบันดาลใจในการบริโภคให้น้อยลง รายจ่ายการบริโภคลดลง จะได้ลดการเบียดเบียนธรรมชาติลง และเอาเวลาที่เคยกินๆ นอนๆ ไปทำสิ่งที่เป็นสาระอย่างอื่นแทน

ความตั้งใจเหล่านี้มีโอกาสเกิดผลสำเร็จได้มากขึ้นในปี 2012 เพราะผู้คนได้มีการเรียนรู้ว่าการมีสุขภาพที่ดีต้องทำอย่างไร และการใช้ชีวิตแบบเลี่ยงความเสี่ยงจะต้องไม่ทำอะไรบ้างที่อาจนำไปสู่เหตุการณ์ความเสี่ยง

อาหารสีเขียวทางเลือกใหม่

เมื่อความตั้งใจจะมีไลฟ์สไตล์แบบกรีนเริ่มต้นขึ้น อาหารก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการดำรงชีวิตในแบบที่ตั้งใจ อาหารออร์แกนิก ปราศจากการใช้สารเคมีหรือ GMOผ่านการดัดแปลงหรือปรุงแต่งน้อยลงให้มากที่สุด และสิ้นเปลืองหีบห่อน้อยที่สุดจะกลายเป็นทางเลือกที่ผู้คนต้องการมากขึ้นในปี 2012

เศรษฐกิจแบบกรีน

แนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นคือทั้งบุคคลธรรมดาและกิจการห้างร้านจะหันไปเลือกการลงทุนและทุ่มแวลาและงบประมาณเพื่อกิจกรรมที่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR มากขึ้น

ในส่วนของผู้ประกอบการ การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานแบบกรีนมากขึ้น ถูกมองว่าจะช่วยในการสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันที่ใช้กับคู่แข่งขันได้ ยกระดับคุณธรรมของบุคลากร ยกระดับสภาพแวดล้อมการทำงานให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานด้านพนักงานและเพิ่มประสิทธิภาพ จนทำให้ผลการประกอบการดีขึ้น ทำให้สาธารณชนตระหนักว่ากิจการให้ความสำคัญกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจในสินค้าและบริการที่วางจำหน่าย เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ใส่ใจกับการเลือกสินค้ามากขึ้น

การศึกษาของบอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป จากผู้บริโภค 9,000 คนทั่วโลกพบว่า การเลือกซื้อกรีนโปรดักส์ยังคงมาอันดับแรก แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะถดถอยลง และ 73% ของคนอเมริกันถือว่าประวัติของผู้ประกอบการในการรณรงค์เรื่องกรีนโปรดักส์เป็นตัวแปรในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ

นอกจากนั้น นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่าธุรกิจด้านกรีนโปรดักส์จะกลายเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ในอนาคต อย่างเช่นบริษัทซีร็อกซ์เชื่อว่ากลังจากใช้กรีนโมเดลแล้ว บริษัทจะประหยัดค่าออกแบบและต้นทุนการผลิตไปได้ไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือโตโยต้าที่ใช้สายการผลิตเดียวกับรถยนต์หลายรุ่น จนประหยัดพลังงานในโรงงานได้กว่า 30% แสดงว่าการใช้กรีนไม่ได้เป็นเพียงการทำความดี แต่ยังเป็นการเพิ่มพูนรายได้ของกิจการด้วย

นอกจากกิจการที่เป็นผู้ผลิตแล้ว กิจการค้าปลีกของโลกจะขยับใช้กรีนโมเดลกันมากขึ้นในปี 2012 ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว อย่างเช่น ห้างวอลมาร์ทได้กำหนดให้กิจการคู่ค้าที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคส่งให้ตนต้องตอบคำถามด้านกรีน 15 ข้อ เพื่อประเมินว่าได้มีส่วนร่วมในการพัฒนากรีนโปรดักส์อย่างเพียงพอหรือไม่

นางสาวกอบทอง หนูสันทัด 224


บทที่ 10 การแข่งขันในตลาดโลกและการปรับตัวเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ระบบเศรษฐกิจจะต้องสามารถสร้างให้เกิดเสถียรภาพและมีภูมิคุ้มกันที่เอื้อต่อการปรับตัวเมื่อได้รับผลกระทบจากภาวะผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งจะต้องมีสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันสูง ทั้งนี้ จะต้องให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในประเทศและภายนอกประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและรู้เท่าทัน มีการปรับโครงสร้างการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตแทนการเพิ่มการใช้ปัจจัยการผลิต ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมในภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ รวมทั้งเชื่อมโยงธุรกิจขนาดใหญ่กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างสมดุล เพื่อสร้าง มูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการที่ตรงกับความต้องการของตลาดภายในและภายนอกประเทศตลอดจนสร้างความแปลกใหม่เพื่อนำตลาด นำไปสู่การเพิ่มการจ้างงาน การยกระดับรายได้ที่แท้จริงและคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ
          ในปัจจุบันปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวยังมีประสิทธิภาพต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศักยภาพของคน ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความสามารถด้านการบริหารจัดการ และบริการโครงสร้างพื้นฐานที่คุณภาพไม่ดีพอ การเสริมสร้างให้ปัจจัยเหล่านี้มีคุณภาพและเพียงพอเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่จะทำให้ภาคการผลิตมีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน  ทั้งนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์โดยอาศัยนโยบายและมาตรการระดับมหภาคโดยลำพัง จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงแนวทางการพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งต่อธุรกิจพื้นฐานด้านการผลิต การค้า และบริการ
        ภาคการผลิตในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวที่ค่อนข้างช้าเมื่อเปรียบเทียบกับภาวะที่โลกปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่อาศัยฐานความรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง โดยพืชเกษตรหลักไม่สามารถแข่งขันได้ มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ขาดการอนุรักษ์ฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะที่ดินและทรัพยากรน้ำ ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของฐานการผลิตและเป็นปัญหาต่อเนื่องด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว อีกทั้งสถาบันเกษตรกรยังขาดความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและภาคการเกษตรโดยรวม ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนในกระบวนการผลิตสูง เนื่องจากแรงงานขาดทักษะและไม่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพต่ำ ขาดการออกแบบที่ดี รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต ขาดการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ยังอ่อนแอ และขาดกลไกที่จะประสานเชื่อมโยงธุรกิจข้ามชาติในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน รวมทั้งผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปรับตัวเพื่อการแข่งขันในตลาดที่มีพลวัตและผันผวนสูงขึ้นได้
      ในด้านบริการ แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นแหล่งทำรายได้และการจ้างงานที่สำคัญ แต่็ได้ส่งผลกระทบในเชิงลบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมหลายประการ อาทิ ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมทั้งวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริการที่ต่อเนื่องกับการท่องเที่ยว ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านบริการการท่องเที่ยวที่ไม่เพียงพอและขาดคุณภาพ การเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนภาพพจน์ด้านลบของประเทศด้านยาเสพติดและโสเภณีเด็ก
         สำหรับด้านการค้า สินค้าส่งออกหลักส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำและสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐานโดยสินค้าเกษตรแปรรูปประเภทอาหารและมิใช่อาหารยังมีน้อยประเภท ทำให้ฐานสินค้าส่งออกค่อนข้างแคบ ขาดความหลากหลาย ขณะเดียวกันการส่งออกยังต้องพึ่งพิงตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จึงมีโอกาสได้รับผลกระทบจากภาวะผันแปรทางเศรษฐกิจในตลาดหลักเหล่านี้ได้ง่าย ในขณะที่ประเทศไทยยังมีอำนาจการต่อรองต่ำในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถขยายส่วนแบ่งด้านของตลาดสินค้าส่งออก รวมทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นได้ ความเป็นเอกภาพในกรอบอาเซียนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีความสำคัญในภาวะที่การรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคมีอิทธิพลต่อการค้าและการลงทุนของโลกสูงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน