หน้าเว็บ

นางสาว วิชญาพร อ่องมี


การค้นหาข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ



จารุพร  พงศ์ศรีวัฒน์ และประภาวดี  สืบสนธ์.  รายงานการวิจัยเรื่องการพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
เสนอในการสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักหอ
สมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2534.




ปี พ.ศ. 2538 เป็นปีเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญ และเพิ่มบทบาทการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในหน่วยงานมากขึ้นอันเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและเข้าใจบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นฉะนั้นเมื่อมีการนิยามความหมายของ“เทคโนโลยีสารสนเทศ”(Information Technology)  โดยทั่วไปเน้นถึงการจัดการในกระบวนการดำเนินงานสารสนเทศ หรือสารนิเทศในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การแสวงหา การวิเคราะห์ การจัดเก็บ การจัดการ และการเผยแพร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความต้องการ ความแม่นยำ และความรวดเร็ว ทันต่อการนำไปใช้ประโยชน์  (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ , 2538) หรือหมายถึงสารนิเทศในรูปของเสียง ภาพ ตัวอักษร และตัวเลข โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม (สุนทร แก้วลาย , 2532)  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เพราะบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาในชีวิตประจำวันของมนุษย์เรามากขึ้น  จึงมีการตื่นตัวและเห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านั้น  รวมถึงแนวคิดในการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งในบ้านและที่ทำงาน

ห้องสมุดในฐานะเป็นศูนย์รวมวิทยาการ และแหล่งสะสมข้อมูลหลากหลาย จำเป็นต้องคำนึงถึงบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านี้ และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของการให้บริการ  เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสความต้องการเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน  การใช้บริการสืบค้นสารนิเทศจากฐานข้อมูลเครือข่ายสารสนเทศห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผลมาจากโครงการพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือโครงการ Chulalinet  (Chulalongkorn  University Library Information Network)  ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับนโยบายการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นิสิตเรียนรู้ด้วยตนเอง  และพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก คือ การพัฒนาให้ห้องสมุดทุกแห่งในมหาวิทยาลัยเป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของห้องสมุดทุกแห่งในมหาวิทยาลัยเป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของห้องสมุดทุกแห่งเข้าด้วยกันเพื่อให้นิสิต อาจารย์ นักวิชาการ สามารถเข้าถึงสารนิเทศของห้องสมุดทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว

การพัฒนาห้องสมุดทุกแห่งให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว  มหาวิทยาลัยจึงได้พิจารณานำโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติมาใช้  และโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติที่เครือข่ายสารสนเทศห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำเลือกมาใช้คือ โปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติอินโนแพค (INNOPAC)  ที่ทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบ UNIX ส่วนระบบการสื่อสารที่ใช้เชื่อมโยงห้องสมุดต่างๆ เข้าด้วยกันใช้การสื่อสาร 2 ระบบคือ การสื่อสารโดยผ่าน คู่สายโทรศัพท์และการสื่อสารโดยใช้ใยแก้วนำแสง (Optical Fiber)  ซึ่งเป็นโครงการวางเครือข่ายเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ของคณะ สถาบัน และหน่วยงานต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน

ฐานข้อมูลเครือข่ายสารสนเทศห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้นิสิต อาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยได้ค้นคืนสารนิเทศของห้องสมุดสมาชิกเครือข่ายตามคณะ และสถาบันต่างๆ  เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2537 โดยสามารถค้นคืนได้จากชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง หัวเรื่อง คำสำคัญ หรือเลขหมู่ ผนวกกับเทคนิคการค้นแบบบูลีน (Boolean Operators)  และจำกัดขอบเขตการค้นคืนด้วยภาษา ประเภทของสิ่งพิมพ์ คำในชื่อผู้แต่ง คำในชื่อเรื่อง คำในหัวเรื่อง ชื่อห้องสมุด ปีพิมพ์ สำนักพิมพ์ และรายการหน้าสารบาญ ซึ่งผู้ใช้จะทราบได้ทันทีว่ารายการสิ่งพิมพ์ที่ต้องการมีหรือไม่  ถ้ามีอยู่ในห้องสมุดแห่งใด  และห้องสมุดแห่งใดกำลังจัดซื้ออยู่  หรืออยู่ในระหว่างการให้เลขหมู่และลงรายการ หรือว่ามีผู้อื่นขอยืมออกไป ทั้งนี้ผู้ใช้จะทราบวันกำหนดส่ง และสามารถสอบถามรายละเอียดการยืม – คืนของตนเองได้  ทั้งยังสามารถเปิดดูข่าวสารกิจกรรมของห้องสมุด เวลาเปิด-ปิดบริการ และรายชื่อห้องสมุดสมาชิกในเครือข่ายได้

พัฒนาการก้าวหน้าของการทำงานฐานข้อมูล Chulalinet (OPAC) รุดหน้าไปอย่างมาก มีการขยายขอบเขตการใช้ไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว การให้บริการค้นหาเอกสารในห้องสมุดทางคอมพิวเตอร์โดยระบบ Chulalinet (OPAC) เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการค้นหาข้อมูลที่ผู้ใช้ห้องสมุดจะต้องทำเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยศักยภาพทั้งห้องสมุด ผู้ให้บริการ และผู้ใช้จะต้องกระทำร่วมกัน ประสานกัน จึงจะทำให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ได้ข้อมูลข่าวสารมากที่สุด ตรงตามความต้องการที่สุด และรวดเร็วที่สุด นับเป็นบริการของห้องสมุดประเภทหนึ่งเพื่อตอบสนอง ให้ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นสารนิเทศ จากฐานข้อมูลนี้ได้ในระบบออนไลน์ด้วยตนเอง

แม้ห้องสมุดจะได้พยายามให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการให้บริการข้อมูลแล้วก็ตาม  ห้องสมุดจำเป็นต้องการดำเนินการให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นคืนข้อมูลด้วยตนเอง  ผ่านระบบ Chulalinet (OPAC) ที่มีศักยภาพสูงในการประมวลผล แต่อย่างไรก็ตามห้องสมุดก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่า การให้บริการสืบค้นสารนิเทศลักษณะนี้จะเป็นที่ยอมรับและพึงพอใจของผู้ใช้หรือไม่เพียงใด ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลที่จัดบริการอยู่ เป็นการดำเนินการตามระบบบูรณาการซึ่งกำหนดไว้แล้ว   ผู้ใช้อาจมีข้อจำกัดบางประการ ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลรายการ Chulalinet (OPAC) นี้ เช่น ประเด็นด้านความสามารถในการเลือกคำค้น  เวลาในการสืบค้น ผู้ใช้อาจต้องมีความรู้ทางเทคนิคของการสืบค้นอย่างเพียงพอ  มีความสามารถในการใช้กลยุทธ์เพื่อการสืบค้นข้อมูล (Boolean Stategies)  ที่ต้องใช้คำเชื่อม AND OR และ NOT  สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคำค้นที่กำหนดขึ้นควบคู่ไปกับการใช้ข้อความต่างๆ ผ่านรายการในเมนูหลัก ซึ่งประกอบด้วยการใช้ Author, Title, Subject, Keyword และ Call Number  ตามลำดับ

การวิจัยเชิงสำรวจ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งจะได้ทราบผลสำเร็จ และความล้มเหลวในการสืบค้นสารนิเทศ จากฐานข้อมูล Chulalinet (OPAC)  ที่มีอยู่ ว่าการสืบค้นข้อมูลสารนิเทศที่ผู้ใช้บริการผ่านระบบ OPAC ประสบความสำเร็จและความล้มเหลวเพียงใด  รวมถึงการค้นหาสาเหตุของปัญหา และอุปสรรคที่ทำให้เกิดความล้มเหลว ในการสืบค้นแต่ละครั้ง ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอแนะจากการวิจัยจะทำให้เกิดแนวคิดในการเร่งพัฒนาระบบการให้บริการสารนิเทศ และจัดการแก้ไขปัญหา ปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้การบริการการสืบค้นสารนิเทศสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: