หน้าเว็บ

นางสาวกันตินันท์ บุญลิสา








บทที่ 10 การแข่งขันในตลาดโลกและการปรับตัวเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน



แนวคิดความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) และทฤษฎีไดมอนด์ (diamond model) ของ ไมเคิล อี. พอร์เตอร์ (Michael E. Porter)
Porter (1985, p. 157) ได้เสนอความคิดเรื่องกลยุทธ์การแข่งขัน (competitive strategy) โดยเชื่อว่า การทำธุรกิจจะประสบกับปัญหา หรือมีการแข่งขันกันมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับพลังต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ 5 ประการ (5 forces) ที่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน คือ
ประการที่ 1 กลุ่มที่มีความสามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ (potential new entrants) โดยการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องง่ายที่บริษัทต่าง ๆ จะเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในบางสถานการณ์ผู้เข้าตลาดใหม่จะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจที่สำคัญของสิ่งแวดล้อมตลาด เช่น ความชัดเจนของตลาด ราคา และความภักดีของลูกค้า เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่มีความสามารถกดดันให้มีการตอบสนอง และการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน การคุกคามของผู้ที่เข้าสู่ตลาดใหม่จะต้องอาศัยการประเมินค่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเข้าตลาด เช่น ความภักดีของกลุ่มลูกค้า (brand loyalty) ความสนิทสนมในด้านความสัมพันธ์กับลูกค้า ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายจริง ความขาดแคลนของทรัพยากรที่สำคัญ การเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ ที่ถูกควบคุมโดยบริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ถูกควบคุมโดยบริษัทอุตสาหกรรมเดิม (access to distribution) ความได้เปรียบด้านต้นทุนของการอยู่ได้ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมจากประสบการณ์ที่ยาวนานมีผลต่อการหักค่าเสื่อมทรัพย์สิน และการขนส่งและการปฏิบัติของภาครัฐ
ประการที่ 2 กลุ่มคู่แข่งขัน (rivalry) เป็นการอธิบายความรุนแรงของการแข่งขันระหว่างบริษัทต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรม ภาวะกดดันในด้านการแข่งขันสูง มีผลต่อความกดดันด้านราคา กำไร และการแข่งขันระหว่างการอยู่ได้ของบริษัทต่าง ๆ จะเกิดขึ้นสูงมาก เมื่อมีบริษัทจำนวนมากในขนาดตลาดเดิม บริษัทต่าง ๆ มีกลยุทธ์คล้ายกัน อัตราการเติบโตของตลาดต่ำ อุปสรรคเพื่อความอยู่รอดสูง เช่น วัสดุเฉพาะคุณภาพสูงและราคาแพงและ มีความแตกต่างกันไม่มากระหว่างบริษัทต่าง ๆ กับสินค้า
ประการที่ 3 กลุ่มสินค้าทดแทน (substitute) ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทนจะมีอยู่ ถ้ามีทางเลือกในสินค้าราคาถูกของปัจจัยในด้านการปฏิบัติงานที่ดีกว่า ซึ่งสามารถดึงดูดด้วยอัตราส่วนของปริมาณตลาด การลดลงของปริมาณยอดขาย ทั้งนี้ ภัยคุกคามของสินค้าทดแทนมีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบของสินค้า ถูกตัดสินโดยความภักดีของกลุ่มลูกค้า ความสนิทสนมในด้านความสัมพันธ์ของลูกค้า การเปลี่ยนแปลงในด้านราคาของผู้บริโภค ความสัมพันธ์ด้านราคาเพื่อการปฏิบัติงานของกลุ่มตัวแทน แนวโน้มในปัจจุบัน
ประการที่ 4 กลุ่มผู้ซื้อ (buyers) พลังการต่อรองของผู้ซื้อเป็นตัวกำหนดราคา ผู้ซื้อสามารถกดดันการกำหนดกำไร และปริมาณการซื้อ พลังการต่อรองของผู้บริโภคจะมีสูงเมื่อปริมาณการซื้อสูง
ประการที่ 5 กลุ่มผู้จำหน่ายวัตถุดิบ (suppliers) กลุ่มผู้จำหน่ายวัตถุดิบประกอบด้วยแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ ซึ่งมีความจำเป็นในการจัดสินค้าและบริการ พลังการต่อรองของกลุ่มผู้จำหน่ายวัตถุดิบจะมีสูง เมื่อตลาดถูกครอบงำโดยผู้จำหน่ายขนาดใหญ่สองสามราย มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มผู้จำหน่ายวัตถุดิบมีการรวมตัวกันล่วงหน้าเพื่อให้ได้มาซึ่งราคาและกำไรที่สูง
นอกจากนี้ Porter (1985) ได้เสนอแนวคิดความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยมีหลักการว่าหากต้องการให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ จะต้องให้ความสำคัญกับ 3 ประการต่อไปนี้ คือ
ประการที่ 1 การสร้างความแตกต่าง (differentiation) คือ สินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมานั้น ต้องมีความแตกต่างที่ไม่สามารถหาได้จากสินค้าทั่วไป หรือมีการเพิ่มศักยภาพหรือประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ จนทำให้สามารถตั้งราคาขายที่แพงกว่าคู่แข่งได้
ประการที่ 2 การมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ (cost leadership) หากธุรกิจมีต้นทุนต่ำก็ย่อมจะอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันได้ แม้ว่าจะมีสัดส่วนกำไร (profit margin) ต่ำก็ตาม ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะทำให้คู่แข่งอื่นไม่อยากเข้ามาแข่งขัน เพราะไม่คุ้มกับความเสี่ยงกับการทำการตลาดเพื่อให้อยู่รอด ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ แต่อยู่มาก่อนและอยู่เพียงผู้เดียวในตลาดจะสามารถดำรงอยู่ได้ เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนมาก ทำให้กำไรสุทธิมีจำนวนที่สูง
ประการที่ 3 การเจาะจงในตลาด (focus) คือ การที่ธุรกิจมุ่งเน้นผลิตสินค้าหรือบริการให้กับตลาดเฉพาะส่วน (niche market) ด้วยสินค้าและบริการที่จำเพาะ ทำให้สามารถตั้งราคาขายได้สูง เนื่องจากลูกค้าจำเป็นต้องซื้อจากธุรกิจนั้น และไม่เสี่ยงที่จะซื้อจากผู้อื่น
ต่อมาแนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาเป็นทฤษฎีเครือข่ายวิสาหกิจ (cluster theory) ในฐานะที่เป็นเครื่องมือการพัฒนาในระดับจุลภาค โดยพอร์เตอร์ได้เสนอบทความวิชาการ เรื่อง The Competitive Advantage of Nations ในปี ค.ศ. 1990 ว่า แนวคิดที่มีความหมายต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างแท้จริง คือ การเพิ่มผลิตภาพ (productivity) คลัสเตอร์ หรือเครือข่ายวิสาหกิจ หมายถึง เครือข่ายที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 4 ประการ คือ
คุณลักษณะที่ 1 การเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
คุณลักษณะที่ 2 ความร่วมมือซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อถือไว้วางใจ ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีความสำคัญประการหนึ่ง
คุณลักษณะที่ 3 การแข่งขัน ข้อแตกต่างของเครือข่ายวิสาหกิจคือเป็นความร่วมมือบนพื้นฐานของการแข่งขัน
คุณลักษณะที่ 4 การมุ่งกำหนดกลไกราคาหรือปริมาณ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในบรรดาหมู่สมาชิก และประสิทธิภาพโดยรวม
จากกรอบแนวคิดทฤษฎีเครือข่ายวิสาหกิจ (cluster theory) และแนวคิดความได้เปรียบในการแข่งขันของพอร์เตอร์ ผู้วิจัยได้นำมาใช้เป็นกรอบในการศึกษาการรวมกลุ่มของธุรกิจ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การรวมกลุ่มของกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในการพัฒนาสินค้าและทรัพยากรท่องเที่ยวรวมถึงการรวมกลุ่มเพื่อต่อรอง หรือดำเนินการ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวสูงสุดร่วมกัน
นอกจากนี้ พอร์เตอร์ กล่าวไว้ในหนังสือ The Competitive Advantage of Nations ว่าปัจจัยที่กำหนดความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ มี 4 ปัจจัย ซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และประกอบเป็นระบบเดียวกันที่เรียกว่า Diamond Model กล่าวคือ (Porter, 1998, p. 167) ปัจจัยที่ 1 ปัจจัยการผลิต (factors conditions) ปัจจัยที่ 2 ปัจจัยด้านอุปสงค์ (demand conditions) ปัจจัยที่ 3 ปัจจัยที่เกี่ยวโยงและสนับสนุนกัน (related and supporting industries) และปัจจัยที่ 4 ปัจจัยด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจและการแข่งขัน (firm strategy, structure and rivalry)
ปัจจัยที่ 1 ปัจจัยการผลิต (factors conditions) เป็นปัจจัยการผลิตของอุตสาหกรรม ทั่วไป ประกอบด้วย แรงงาน วัตถุดิบ เงินทุน และที่ดิน แต่ในปัจจุบันปัจจัยการผลิตนี้ต้องหมายรวมถึง เทคโนโลยี ความรู้ และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งหากมีเพียงพอและครบถ้วนแล้ว จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้นได้ โดยพิจารณาจากตัวแปรทรัพยากรพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว แรงงานด้านการท่องเที่ยว สาธารณูปโภคในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และความปลอดภัยในการท่องเที่ยว
ปัจจัยที่ 2 ปัจจัยด้านอุปสงค์ (demand conditions) การที่ความต้องการสินค้าและบริการเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหมายถึงรายได้ของประเทศ ซึ่งหากผู้บริโภคมีความต้องการของสินค้าและบริการสูง ก็ย่อมทำให้ผลผลิตของอุตสาหกรรมสูงตามไปด้วย ซึ่งจะสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่ดี นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศก็มีความสำคัญในการก่อให้เกิดความได้เปรียบ ถ้าความต้องการนั้นเกิดก่อนและตรงกับความต้องการของ ผู้บริโภคในประเทศอื่น เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา ปรับปรุง สร้างนวัตกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยด้านอุปสงค์พิจารณาจากขนาดของอุปสงค์ และคุณลักษณะของอุปสงค์
ปัจจัยที่ 3 ปัจจัยที่เกี่ยวโยงและสนับสนุนกัน (related and supporting industries) จากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประกอบด้วยธุรกิจที่หลากหลาย มีความเกี่ยวโยงและสนับสนุนกัน (supporting industry) ซึ่งหากมีอุตสาหกรรมนั้นมีความเข้มแข็งและ มีคุณภาพก็จะเอื้อต่อความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งพิจารณาจากตัวแปรการศึกษาและฝึกอบรมด้านการท่องเที่ยว กิจกรรม (Meeting, Incentive, Convention and Exhibition-- MICE) กิจกรรมร้านอาหาร กิจกรรมการใช้จ่าย (shopping) และขายของที่ระลึก กิจกรรมสวนสนุกและสถานพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น
ปัจจัยที่ 4 ปัจจัยด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจและการแข่งขัน (firm strategy, structure and rivalry) จากการที่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐบาล โดยให้เอกชนหรือภาคธุรกิจเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ โดยหากผู้ผลิต มีความเข้มแข็ง มีการแข่งขันรุนแรง ก็จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยพิจารณาจากตัวแปร กลยุทธ์การแข่งขัน การกำหนดมาตรฐานของสินค้าและบริการระดับความเข้มข้นของการแข่งขัน การบังคับใช้กฎหมาย บทบาทของภาครัฐต่อการแข่งขัน







บทที่ 11 การบริหารจัดการธุรกิจสีเขียวและการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต



การพัฒนาธุรกิจกับการจัดการสิ่งแวดล้อม
ภาคธุรกิจนับเป็นภาคีที่สำคัญต่อการจัดการสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเกี่ยวข้องทั้งในแง่ของการเป็นผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและให้บริการ และการเป็นผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ตามห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ภาคธุรกิจจึงมีบทบาทนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในการดำเนินงานของภาคธุรกิจควรมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้
1. การผลิต
เดิมธุรกิจมองประเด็นสิ่งแวดล้อมเพียงในรูปของขยะมูลฝอย น้ำเสีย ฝุ่น ควันดำ ฯลฯ และเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาจัดการในภาพรวม ดังนั้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรจึงเป็น การบำบัดที่ปลายท่อ เพียงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของภาครัฐที่ขณะนั้นมีลักษณะแบบ การสั่งการและควบคุม ผู้ประกอบการธุรกิจมักคิดว่าการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นภาระและเป็นหน่วยที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงมองประเด็นนี้ในเชิงลบและมักละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญ หรือถ้าให้-ก็เป็นลำดับสุดท้าย นับแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ภาครัฐได้ปรับเปลี่ยนแนวความคิดในการจัดการภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจาก "การสั่งการและควบคุม" เป็น "การกำกับและดูแล" และ "การป้องกันการเกิดมลพิษ" และได้นำเครื่องมือการจัดการสิ่งแวดล้อมรูปแบบใหม่ๆ เสนอต่อภาคธุรกิจ เช่น เทคโนโลยีสะอาด หรือระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจเริ่มหันมามีมุมมองใหม่ต่อสิ่งแวดล้อมว่าไม่ใช่เรื่องมลพิษเท่านั้น ธุรกิจเริ่มเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างต้นทุนการผลิตกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวคือหากมีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดของเสียและมลพิษจำนวนมาก ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบ พลังงานและการบำบัดของเสีย ทำให้สินค้ามีราคาสูงไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด ส่วนผลพลอยได้ก็คือการมีส่วนร่วมในดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ กระบวนการผลิตที่ยั่งยืนต้องมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยมีการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการเกิดของเสีย รวมถึงการหาแนวทางการแปรรูปของเสียเพื่อเวียนกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตอีกครั้ง
2. การตลาด
ผู้ผลิตสามารถใช้กลไกทางการตลาดเป็นเครื่องมือการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ การที่ผู้ผลิตมีความพยายามที่จะทำการผลิตสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการดังกล่าวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตจึงสามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีต้นทุนในการผลิตลดต่ำลง นั่นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตในระยะยาวนั่นเอง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มมีสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสินค้าสีเขียว (green products) วางขายในตลาดมากขึ้น เช่น เสื้อผ้าไม่ฟอกย้อม น้ำมันไร้สารตะกั่ว ถุงพลาสติกย่อยสลายได้เองในแสงอาทิตย์ ตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการตลาดสีเขียวของประเทศไทยช้ากว่าประเทศอื่นๆ มาก เนื่องจากคนไทยส่วนมากยังขาดความตระหนักและจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรและรักษาสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆในชีวิตประจำวันก็ตาม นอกจากนี้ผู้บริโภคไทยยังไม่นิยมใช้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ทำให้การตลาดสีเขียวของไทยลุ่มๆ ดอนๆ เนื่องจากขาดกลุ่มผู้บริโภคที่มีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม (green consumers) อย่างจริงจัง ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจหันมาประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ "การเผยแพร่ข่าวสารขององค์กรธุรกิจควรทำในรูปแบบของการให้การศึกษามากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบของการบริโภคกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจและหันมาใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอันจะนำไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้"
3. การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
ผู้ผลิตสามารถดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่ผู้บริโภคอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการติดฉลากสินค้าและข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมบนผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจและหันมาใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอันจะนำไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้
ปัจจุบันภาคธุรกิจในประเทศไทยเริ่มหันมาสนใจเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมแก่สาธารณชนมากขึ้น ผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ถึงแม้ว่าจะมีเป้าประสงค์หลักคือการสร้างภาพลักษณ์สีเขียว (green image) ให้แก่องค์กร เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าธุรกิจของตนมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดก็ตาม แต่อานิสงส์ที่ได้ในระยะยาวจากการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวคือ ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ข่าวสารขององค์กรธุรกิจควรทำในรูปแบบของการให้การศึกษามากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบของการบริโภคกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจและหันมาใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอันจะนำไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้
4. การสร้างความร่วมมือของภาคีธุรกิจ
การสร้างความร่วมมือของภาคีธุรกิจในการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เนื่องจากความร่วมมือของภาคีธุรกิจจะเป็นกลไกในการขยายผลการดำเนินงานที่ทำให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ เห็นความสำคัญของการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ปัจจุบันภาคธุรกิจได้มีการจัดตั้งเครือข่ายหรือเวทีธุรกิจเพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนประสบการณ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น คณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) และเครือข่ายการดำเนินงานด้านนิเวศเศรษฐกิจและการผลิตที่สะอาด (Thailand Network of Eco-efficiency and Cleaner Production: TNEC) ซึ่งการดำเนินงานยังจำกัดเฉพาะกลุ่มสมาชิกเท่านั้น
รูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านคู่ค้าทางธุรกิจ ดังที่ทราบกันทั่วไปว่าห่วงโซ่อุปทานของการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กจำนวนมาก ตั้งแต่ ต้นน้ำ (upstream) จนถึงปลายน้ำ (downstream) องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ จึงสามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในห่วงโซ่อุปทาน การจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านห่วงโซ่อุปทาน หรือห่วงโซ่สีเขียว (greening supply chain management) จึงเป็นกลยุทธ์ด้านการบริหารเชิงธุรกิจที่สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงการบริหารจัดการและสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรอย่างยั่งยืน
โดยเชื่อมโยงกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต การจัดซื้อ การขนส่ง และการส่งมอบผลิตภัณฑ์ไว้ด้วยกัน โดยสร้างความร่วมมือภายในองค์กรผู้ซื้อ (buyers) และบริษัทคู่ค้า (suppliers) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และส่งเสริมให้มีการนำหลักการผลิตที่สะอาดและการป้องกันมลพิษมาใช้ในองค์กรที่เกี่ยวข้องในทำนอง "พี่ช่วยน้อง" นั่นคือ องค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มีอำนาจในการซื้อช่วยเหลือ SMEs ซึ่งเป็นคู่ค้าของตน ให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตผลิตภัณฑ์ของผู้ซื้อ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดโซ่อุปทานย้อนกลับ (reversed supply chain) ในการส่งคืนซากสินค้าให้กับผู้ผลิต เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ นำไปบำบัดหรือกำจัดต่อไป
แนวคิดเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานกำลังได้รับความนิยมนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายจากการที่องค์กรผู้ซื้อมีนโยบาย มาตรฐานการจัดซื้อจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในเป็นกรอบการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการปรับปรุงประสิทธิภาพของบริษัท ซึ่งหากบริษัทคู่ค้าของตนไม่ได้มีการรับรู้หรือยอมรับนโยบายหรือมาตรฐานเหล่านี้ไปด้วย ก็อาจมีผลให้องค์กรธุรกิจเหล่านั้นไม่สามารถบรรลุถึงนโยบายหรือมาตรฐานขององค์กรได้ เนื่องจากการจัดซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ตั้งไว้ แนวคิดนี้พัฒนาตอบสนองต่อกระแสการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนและมาตรการด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป ซึ่งนับวันจะให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น



ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์
ฝ่ายธุรกิจและสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
 

ไม่มีความคิดเห็น: