หน้าเว็บ

นางสาวนฤมล คำแหงพล รหัส 5130125401247


การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ความสำคัญของการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึง “การวิเคราะห์ผลกระทบจากโครงการหรือกิจการประเภทต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมหรือสภาพแวดล้อม ที่อาจจะมีผลกระทบต่อโครงการหรือกิจการนั้น ทั้งในทางบวกและทางลบ เพื่อเป็นการเตรียมการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการหรือกิจการนั้นๆ” ขั้นตอนที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพจะเป็นระบบที่ถูกเตรียมการในระดับการวางแผนเพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงทุกๆ ด้านว่าถ้าจะมีโครงการหรือกิจการใดขึ้นมาก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด มีผลกระทบในระยะสั้นหรือระยะยาวอย่างไร เมื่อได้วิเคราะห์ในรายละเอียด รวมถึงทางเลือกต่างๆ แล้ว จะมีการประเมินถึงผลดีและผลเสียของโครงการหรือกิจการนั้นๆ และที่สำคัญที่สุดของระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมคือ จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงประชาชนได้โอกาสเข้ามาแสดงความคิดเห็นไม่ว่าสนับสนุนหรือคัดค้านต่อโครงการหรือกิจการนั้น ๆ ด้วย
โครงการหรือกิจการใดที่ผ่านการเห็นชอบของหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานเกี่ยวข้อง และประชาชนแล้ว หลังการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ต้องเตรียมมาตรการในการติดตามตรวจสอบ และประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังจากที่โครงการได้เปิดดำเนินการเพื่อให้ทราบว่าโครงการหรือกิจการนั้นได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด และได้ปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ได้เสนอไว้ในรายงานอย่างเคร่งคัดหรือไม่
การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเสมือนเครื่องมือที่ชี้ให้เห็นผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการหรือกิจการต่างๆ ทั้งทางบวกและทางลบ และเป็นการเตรียมการเพื่อควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่จะให้ประเทศเจริญก้าวหน้าต่อไป จำเป็นจะต้องให้ประชาชนในประเทศมีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของคุณภาพชีวิต หมายความว่าประชาชนของประเทศจะต้องอยู่ในสภาพวะแวดล้อมที่ดี ไม่มีปัญหาด้านภาวะมลพิษ
การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะสมบูรณ์ได้จะต้องให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการยอมรับโครงการหรือกิจการนั้นๆ เพราะประชาชนในท้องถิ่นจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากโครงการหรือกิจการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าโครงการจะเป็นขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ปัจจุบันประชาชนยังไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไร ระดับใด ทำให้ต้องมีองค์กรเอกชน นักวิชาการ หรือผู้รู้ทั้งหลายคอยให้ความช่วยเหลือในด้านข่าวสาร ข้อมูล และความรู้ทางวิชาการซึ่งในบางครั้งก็กลายเป็นปัญหาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการปลุกระดมมวลชนให้เกิดการต่อต้านโครงการหรือกิจการนั้น ๆ


วัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตาม พระราชบัญญัติ สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535
  - เพื่อจำแนก ทำนาย และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการโดยเปรียบเทียบกับสภาวะที่ไม่มีโครงการ และเพื่อเตรียมการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นวางแผนโครงการ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง และดำเนินโครงการ และเพื่อสนับสนุนหลักการพัฒนาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
- เพื่อให้มีการนำปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมมาช่วยใน การวางแผนโครงการ และตัดสินใจดำเนินโครงการ

การมีส่วนร่วมของประชาชน
การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการพัฒนาโครงการหรือกิจการที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตไม่ว่าโครงการหรือกิจการนั้นๆ จะเป็นของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจหรือเอกชน ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ถือว่าเป็นวิธีการที่จะพัฒนาประเทศ และเป็นการคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ควรหวงแหนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การมีส่วนร่วมของประชาชน มาจากภาษาอังกฤษว่า “Public participation” ดังนั้นคำว่า “ประชาชน” ในความหมายที่แท้จริงของประเทศที่พัฒนาแล้ว หมายถึงหน่วยงานของภาครัฐบาล ภาคเอกชน องค์กรเอกชน กลุ่มคน และประชาชนทั่วไป ที่อาจจะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากการมีโครงการหรือกิจการ ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

กลไกในการมีส่วนร่วมของประชาชน
การสร้างกลไกให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในกระบวนการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้
  1.เพื่อได้รับข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการหรือกิจการและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
  2.เพื่อช่วยในการชี้ประเด็นปัญหา และคุณค่าต่างๆ ของสิ่งแวดล้อม
  3.เพื่อแสดงความคิดเห็นอันอาจจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหา
4.เพื่อช่วยในการให้ข้อมูลย้อนกลับและช่วยในการวิเคราะห์ผลกระทบต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการดำเนินงานและการตรวจเฝ้าระวัง
5.เพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้ง และเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกัน

ที่มา : http://sahutchaisocialwork.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น: