หน้าเว็บ

นางสาวสอาด ไหวพริบ / รหัส 5130125401218 / การจัดการทั่วไป


บทที่ 10 การแข่งขันในตลาดโลกและการปรับตัวเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ความได้เปรียบทางการแข่งขัน เป็นสุดยอดปรารถนาของทุกกิจการที่ต้องดำเนินงานท่ามกลางความผันแปรที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งทุกธุรกิจย่อมจะทำทุกวิถีทางที่จะเฟ้นหากลยุทธ์ที่เฉียบคมที่สุด เพื่อนำมาสู่การสร้างความได้เปรียบดังกล่าวเหนือคู่แข่ง แต่อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งความได้เปรียบที่เหนือชั้นนั้น ยังไม่ยากลำบากเท่ากับรักษามันเอาไว้ บ่อยครั้งที่หลายท่านคงเห็นบริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยเกรียงไกรอย่างมาก แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาและสภาวะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งบางแห่งถึงกับล้ม ไปโดยที่ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมายืนอยู่จุดเดิมได้อีกเลย
จึงเริ่มมีการพยายามวิเคราะห์หาแนวคิดกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่นอกจากจะนำไปสู่ความได้เปรียบแล้ว ยังต้องสามารถทำนุบำรุงให้คงอยู่ในระยะยาว อย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย เนื่องจากไม่มีคู่แข่งรายใดที่จะยอมอยู่เฉย มองดูธุรกิจของเราเติบโตต่อไปได้อย่างราบรื่น หากกิจการของเราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ก็ต้องมีผู้ที่พยายามจะเข้ามาร่วม ต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์จากความสำเร็จนั้นด้วย ไม่ช้าก็เร็ว
ดังนั้น จึงมีเทคนิคบางประการมานำเสนอ เพื่อนำสู่ความได้เปรียบในการดำเนินงานที่คงทนถาวรมากขึ้น
เทคนิคประการแรก คือ กล้าเสี่ยงกับการสร้างสรรค์ โดยกิจการควรสนับสนุนการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ และทดลองที่จะนำแนวคิดที่แตกต่างลงสู่การปฏิบัติ แม้ว่าบ่อยครั้งความคิดนั้น ๆ จะดูแปลกแหวกแนว จนอาจจะถูกคนอื่นๆหัวเราะเยาะและเย้ยหยันว่าเป็นไปไม่ได้ก็ตามเจฟ เบซอส ผู้ก่อตั้ง อเมซอนดอทคอม อันลือลั่น ก็กล่าวยืนยันว่า "การที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ นั้น มักจะทำให้เราถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดในสายตาของคนรอบข้างเสมอ" แต่หากกิจการไม่เสี่ยงที่จะทดลองเลยนั้น ก็ไม่สามารถจะลิ้มรสของความเป็นผู้นำที่แตกต่างได้เลย โดยเครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่าง ที่อเมซอนคิดค้นขึ้น เพื่อนำมาสู่การให้บริการค้าปลีกออนไลน์ต่อลูกค้าอย่างล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็นระบบแนะนำสินค้าแบบตัวต่อตัว ระบบเว็ปเพจส่วนบุคคล ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เคยถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ทั้งสิ้น หรือแม้แต่ คีออสเพลงดิจิตอลของสตาร์บัค หรือ ระบบค้นหาข้อมูลระดับโลกของกูเกิล ก็ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างหนาหูทั้งสิ้น แต่สิ่งต่าง ๆ ก็ได้นำมาความสำเร็จที่แตกต่างมาสู่กิจการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
เทคนิคประการที่สอง คือ อย่าลุ่มหลงกับการเพิ่มขนาดเท่านั้น ควรเน้นที่การสร้างความเป็นเอกลักษณ์มากกว่า หลายธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มักจะคิดว่าการเติบโตหรือขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ จึงมีความพยายามที่จะเพิ่มขนาดอย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความได้เปรียบทางการแข่งขัน มิได้ขึ้นอยู่กับขนาดแต่เพียงอย่างเดียว ยิ่งขนาดใหญ่ขึ้น แต่หากทุกอย่างกลับขาดความโดดเด่น จะยิ่งทำให้เป็นภาระทางการดำเนินงานเสียเปล่า ดังนั้น การมุ่งเน้นที่เอกลักษณ์เพื่อตอบสนองความต้องการ เฉพาะด้านที่พิเศษแตกต่างจริง ๆ จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความมั่นคงในการแข่งขันมากกว่า
เทคนิคประการที่สาม คือ อย่าดึงดันกับการแข่งขันแต่เพียงอย่างเดียว ควรหาตลาดใหม่เพื่อฉกฉวยโอกาสในการเติบโตด้วย โดยแนวคิดนี้เน้นว่าควรใส่ใจในการสร้างสรรค์โอกาสทางการตลาดใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะดำเนินงานอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงแต่เพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะเพลี่ยงพล้ำได้ง่าย และผลตอบแทนก็ไม่คุ้มค่า
เทคนิคประการที่สี่ คือ โฟกัสที่ลูกค้า มิใช่คู่แข่งขัน ซึ่งอาจจะทำให้เห็นการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจที่อยู่ในความต้องการของตลาดได้อย่างมาก เช่น บริษัท Caterpillar ที่มีผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องจักรหนักอันลือชื่อ โดยเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างถึงที่สุด จนเกิดความเป็นเลิศด้านบริการ ซึ่งบริษัทสัญญาว่า ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ใดในโลกนี้ ก็สามารถที่จะส่งชิ้นส่วนไปให้บริการได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ จนกระทั่งหลายคนมองว่า Caterpillar ขายบริการด้วยซ้ำ และท้ายที่สุด จากการที่กิจการมีการพัฒนาเครือข่าย การขนส่งทั่วโลก ทำให้มีทักษะและเทคโนโลยีสูงมากพอที่จะเข้าแข่งขันในธุรกิจให้บริการทางด้านลอจิสติกส์เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจหลักที่เติบโตสูงสุดของบริษัท และทำรายได้มหาศาลกลับคืน มาทีเดียว
นอกจากนี้ กิจการยังควรมีการสร้างเครือข่ายสนับสนุนการแลกเปลี่ยนไอเดียและข้อมูลระหว่างบริษัท เพื่อเป็นการจุดประกายการสร้างสรรค์ รวมถึงควรต้องกระตุ้นให้บุคลากรของเรากระหายในความสำเร็จและพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จึงจะสามารถวิ่งหนีและกระโดดข้ามคู่แข่งได้ต่อไปในอนาคต

แหล่งที่มา : http://th.jobsdb.com/th/EN/Resources/JobSeekerArticle/marketing_editor13.htm?ID=187



บทที่ 11 การบริหารจัดการธุรกิจสีเขียวและการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
คำว่า "ธุรกิจสีเขียว" หมายถึงบริษัทหรือองค์กรภาคธุรกิจ ที่มีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจของตนโดยไม่ปรารถนาที่จะทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบใด ๆ ต่อสภาพแวดล้อมของโลก และต่อสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น ชุมชน และสังคมที่อยู่รอบข้าง และยังอาจมีความหมายรวมไปถึง การไม่ต้องการสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ
          ธุรกิจสีเขียว มักจะให้ความสำคัญต่อผลลัพธ์ทางธุรกิจใน 3 ด้านสำคัญ ที่เรียกว่า triple bottom line ซึ่งได้แก่ people ผลลัพธ์ที่จะเกิดต่อมนุษยโลกที่เกี่ยวข้อง, planet ผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม สภาวะอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลกมนุษย์และ profit ซึ่งเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
การทำการตลาดสีเขียวนั้น น่าจะมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่นักการตลาดควรให้ความสนใจ ได้แก่
          1. การนำเสนอให้ตลาดผู้บริโภคทั่วไปได้เห็นและเกิดความเข้าใจว่า สิ่งที่บริษัทหรือองค์กรกำลังทำอยู่นี้จะช่วยเหลือสภาพแวดล้อมของโลก ทั้งในเชิงกว้างและในระดับสังคม ชุมชนแวดล้อมได้อย่างไร
          2. นำเสนอสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
          3. ใช้วิธีการที่เป็นสีเขียวเช่นกัน ในการนำเสนอองค์ประกอบข้อ 1 และ ข้อ 2 ที่ได้กล่าวมา
          วิธีการข้อที่ 3 เป็นข้อที่นักการตลาดทั่วไป อาจต้องปรับแนวความคิดเดิม ๆ หันมาสู่การคิดหาวิธีการที่จะทำให้วิธีการทางการตลาดเป็นสีเขียวให้ได้มากที่สุด
          เช่น การใช้วัสดุประกอบการตลาด อาทิ กระดาษที่ใช้ในการพิมพ์เอกสารการตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้หมึกพิมพ์ที่ไม่สร้างมลภาวะ และมองไปถึงว่าวัสดุเหล่านั้น หลังจากทำหน้าที่ทางการตลาดสื่อความสำคัญไปยังผู้บริโภคแล้ว ผู้บริโภคจะมีวิธีในการกำจัดทิ้งอย่างไรจึงจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงลบ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำได้ด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม
          นักการตลาดซึ่งโดยธรรมชาติมักจะเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านการคิดสร้างสรรค์สูงอยู่แล้ว หากจะหันกลับมาคิดสร้างสรรค์ในเรื่องของเอกสารทางการตลาดที่เป็นสีเขียวได้ ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย แถมยังจะได้เป็นข้อพิสูจน์ให้ผู้บริโภคและคนทั่วไปได้เห็นว่า ความมุ่งมั่นขององค์กรที่ต้องการจะทำธุรกิจให้เป็นสีเขียวนั้น สามารถทำได้อย่างครบวงจรอย่างแท้จริงอีกด้วย
          นอกจากสื่อเอกสารทางการตลาดที่เป็นสีเขียวแล้ว วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือกิจกรรมทางการตลาดอื่น ๆ นักการตลาดก็สามารถเลือกใช้แต่สิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือทำลายธรรมชาติ หรือใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น
          การหันกลับมาใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่จะไม่ทำให้เกิดการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กลยุทธ์การตลาดแบบปากต่อปาก ซึ่งถึงแม้ว่า อาจจะส่งผลตอบกลับที่ไม่รวดเร็วนัก แต่เป็นกลยุทธ์ที่ทรงอิทธิพลและสร้างความจงรักภักดีจากลูกค้าและผู้บริโภคได้ดีที่สุด อีกทั้งยังเป็นวิธีที่มีความเป็น "สีเขียว" อยู่ในตัวอย่างมาก เพราะอาจไม่ต้องพึ่งพิงการใช้วัสดุหรือพลังงานอื่น ๆ ให้สิ้นเปลืองมากนัก
           วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ แทบจะไม่ต้องพึ่งพาอาศัยวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลืองต่าง ๆ มากนัก แต่อาจจะต้องใช้พลังงานของคนมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ความนิยมใช้อาจลดลง เพราะคนมีแนวโน้มที่จะไม่อยากทำงานเสียพลังงานของตนเองมากไป โดยหันไปใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองทรัพยากรของโลกซึ่งทำให้เกิดความสะดวกสบายมากกว่า แต่เป็นการทำให้โลกต้องตกอยู่ในสภาพที่ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลืองและรวดเร็ว
          การใช้สื่อระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบอินเทอร์เน็ต ก็อาจจะลดความสิ้นเปลืองของการทำการตลาดแบบเดิม ๆ ไปได้มากเช่นกัน จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นักการตลาด "สีเขียว" อาจเลือกนำมาใช้ได้
          ประเด็นสุดท้ายที่ต้องกล่าวถึงในเรื่องของการทำการตลาด "สีเขียว" ก็คือ เรื่องของเนื้อหาหรือการสื่อข้อมูลไปยังผู้บริโภคว่าสินค้าหรือบริการที่ทำตลาดอยู่เป็นสินค้าหรือบริการ "สีเขียว" โดยที่เป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น เพื่อพยายามสร้างกระแส "สีเขียว" ให้กับสินค้าหรือบริการ เพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว
          โดยแอบอ้างความเป็นจริงที่รู้ว่า การพิสูจน์ว่าสินค้าหรือบริการ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการที่ใช้ในการผลิตหรือบริการไม่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซโลกร้อนออกสู่บรรยากาศ ฯลฯ นั้น เป็นเรื่องที่อาจจะไม่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงเวลาสั้น ๆ การตลาดที่ชักนำให้ตลาดหรือผู้บริโภคเข้าใจผิดนั้น ถือได้ว่าเป็นการตลาดที่ไม่เป็น "สีเขียว" เช่นกัน  เรื่องของการตลาด "สีเขียว" คงเคยได้ยินคำว่า "greenwashing" ซึ่งฝรั่งให้ความหมายไปถึงธุรกิจหรือการตลาดที่พยายาม "ฟอกย้อม" ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ธุรกิจหรือองค์กรธุรกิจนั้น ๆ เป็นธุรกิจ "สีเขียว" โดยที่ความจริงแล้วเป็นสีอะไรก็ไม่อาจรู้ได้
          ดังนั้น นักการตลาด "สีเขียว" จึงต้องไม่ตกหลุมของการทำ "greenwashing" เสียแต่ในเบื้องต้น
แหล่งที่มา      โดย : เรวัติ ตันตยานนท์

ไม่มีความคิดเห็น: