หน้าเว็บ

รัตนาพรรณ คงกล่ำ รหัส 5130125401250



บทที่ 10
การแข่งขันตลาดโลกและการปรับตัวเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
กลยุทธ์การแข่งขัน (COMPETITIVE STRATEGY)
ไมเคิล อี พอร์เตอร์ โด่งดังในเมืองไทยขึ้นมา ก็ในสมัยที่
นายกทักษิณต้องการให้เขามาศึกษาในเรื่อง กลยุทธ์และความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในเมืองไทย ในตลาดโลก ที่ โด่งดังมากก็เพราะค่าตัวการศึกษาอันแพงลิบลิ่วของพอร์เตอร์เอง หลักหรือทฤษฎีที่ทำให้พอร์เตอร์โด่งดังขึ้นมา ก็ด้วยความคิดของกลยุทธ์การแข่งขัน (Competitive Strategy) ซึ่งเขาบอกว่า การ ทำธุรกิจนั้น จะประสบกับปัญหาการต่อสู้มากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับ พลังของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นจำนวน 5 อย่าง (5 Forces) อันประกอบด้วย  พลังกดดันทั้ง 5 ประการในการที่ธุรกิจจะถูกกระทำจากสิ่งแวดล้อม
1) สภาพการแข่งขันภายในตัวธุรกิจนั้นเอง
 คือคู่แข่งต่างๆที่มีอยู่แล้ว เห็นๆ หน้ากันอยู่ อันนี้ก็คือใครดีใครอยู่ เรียกว่าทำด้วยกัน ขายของให้กับลูกค้ากลุ่มเดียวกัน เช่น DTAC กับ AIS, หรือ Coke กับ Pepsi เป็นต้น
2) สภาพการแข่งขันจากภายนอกธุรกิจนั้น
 คือคู่แข่งที่อาจจะกระโดดเข้ามาร่วมสังเวียนด้วยในอนาคต การจะป้องกันคู่แข่งที่จะเข้ามา ก็ต้องอาศัยความที่ธุรกิจได้ดำเนินการมาก่อน เช่นผลิตของจำนวนมากๆ ทำให้เกิดการประหยัดเนื่องจากขนาด (Economic of Scale) ทำให้มี Profit Margin ต่ำจนกระทั่ง ไม่เกิดการจูงใจให้ผู้อื่นโดดเข้ามาแข่งขันด้วย เนื่องจากไม่คุ้มค่าความเสี่ยง หรืออาจจะพยายามทำให้สินค้ามีตรายี่ห้อที่ทรงพลัง, มีความแตกต่างในสินค้าอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งคู่แข่งไม่สามารถทำได้ (มีลิขสิทธิ หรือมีสิทธิบัตรคุ้มครอง), ลูกค้าไม่ต้องการเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากผู้อื่นเนื่องจากมีต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการ (Switching Cost), มีการคุ้มครองจากรัฐบาลเช่นสัมปทาน เป็นต้น
3) สภาพแรงกดดันจากคู่แข่งทางอ้อมหรือสินค้าทดแทน
 จริงๆแล้วก็เป็นธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่อุตสาหกรรมนั้นสามารถทำกำไรได้มากมาย จนเป็นที่ชำเลืองมองของคนอื่นที่อยู่นอกระบบ วันหนึ่งเขาก็อาจจะอยากกระโดดเข้ามามีส่วนร่วมขายของทดแทนเพื่อทำเงินบ้าง ผู้ที่จะอยู่ได้จะต้องมีสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า มีลักษณะเด่นกว่า ที่ไม่สามารถถูกทดแทนได้โดยง่ายจากสินค้าประเภทอื่น


4) อำนาจต่อรองจากผู้ขายวัตถุดิบให้กับธุรกิจ
 เช่นหากมีผู้จำหน่ายวัตถุดิบชนิดนี้น้อยราย, หรือเป็นของจำเป็นที่ต้องซื้อ ไม่สามารถซื้อจากคนอื่นได้, หรือธุรกิจจะต้องเสียเงินในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการหากต้องการเปลี่ยนวัตถุดิบ เมื่อเป็นดังนี้แล้วผู้ขายวัตถุดิบก็เล่นตัวขึ้นราคาเอามากๆ หรือไม่ตั้งใจสำรองวัตถุดิบนั้นไว้ให้มีเพียงพอใช้ในยามต้องการ อาจจะเกิดความขาดแคลนได้ง่ายเมื่อจำเป็น
5) อำนาจต่อรองจากผู้ซื้อ
 ในกรณีนี้เช่นถ้าผู้ซื้อเป็นผู้ซื้อรายใหญ่เพียงรายเดียว, หรือสามารถซื้อสินค้าจากใครก็ได้ เพราะไม่ได้มีลักษณะเด่น หรือใช้ได้เหมือนกันโดยไม่ต้องแปลงกระบวนการ (ไม่มี Switching Cost หรือมีแต่น้อยมาก), หรือเป็นสินค้าที่ผู้ซื้ออาจจะมาผลิตเองได้ ก็อาจจะขอต่อรองราคาให้มีส่วนลดได้มากๆอำนาจหรือแรงกดดันทั้งห้าประการนี้ หากมีมากอยู่ล้อมรอบธุรกิจ ก็จะทำให้ดำเนินงานได้อย่างลำบาก ต้องคอยจัดการหลบหลีกเลี่ยงให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด รักษาลูกค้าไว้ให้ได้มากที่สุด หรือพยายามด้วยวิธีพิสดารเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ สุดท้ายแล้วอาจจะต้องห้ำหั่นกันด้วยราคา ทำให้มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นต่ำลง จนกระทั่งอาจจะเกิดการขาดทุนจะอยู่ไม่ได้
             นอกจากนี้แล้ว พอร์เตอร์ก็ได้คิดต่อไปถึงความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เขาได้เขียนหนังสืออีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน ชื่อว่า Competitive Advantage ซึ่งได้กล่าวหลักการไว้ว่า หากต้องการให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้แล้ว จะต้องใส่ใจในสิ่ง 3 อย่างต่อไปนี้

1) สร้างความแตกต่าง (Differentiation)
คือสินค้าหรือบริการที่ธุรกิจผลิตขึ้นมานั้น จะต้องมีความแตกต่างที่อาจจะไม่สามารถหาได้จากสินค้าทั่วไปของผู้อื่น หรือมีการเพิ่มศักยภาพหรือประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ จนทำให้สามารถตั้งราคาขายที่แพงกว่าคู่แข่งได้

2) การมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ (Cost Leadership)
หากธุรกิจมีต้นทุนที่ต่ำแล้ว ก็ย่อมจะดำรงอยู่ในตลาดการแข่งขันได้แม้ว่าจะมี Profit Margin ที่ต่ำ ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะทำให้คู่แข่งอื่นไม่อยากที่จะเข้ามาแข่งขันด้วย เพราะว่าไม่คุ้มกับความเสี่ยงในการอยู่รอดเพื่อทำตลาดแข่งขัน ธุรกิจที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเองแต่อยู่มาก่อน
 และอยู่เพียงผู้เดียวในตลาด จะสามารถอยู่ได้เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนมาก ทำให้กำไรสุทธิที่สร้างขึ้นได้นั้นเป็นจำนวนที่สูง

3) การเจาะจงในตลาด (Focus)
คือการที่ธุรกิจมุ่งเน้นผลิตสินค้าหรือบริการให้กับตลาดเฉพาะส่วน อาจจะเรียกว่าเป็นตลาดเฉพาะส่วน (Niche Market) ก็ได้ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ด้วยสินค้าและบริการที่จำเพาะดังนั้นแล้ว จะทำให้สามารถตั้งราคาขายได้สูง เนื่องจากลูกค้าจำเป็นต้องซื้อจากธุรกิจนั้น และไม่ต้องการเสี่ยงที่จะซื้อจากผู้อื่นอีกในเรื่องของความได้เปรียบเชิงแข่งขันนี้ ก็มีโมเดลอธิบายเช่นเดียวกับเรื่องของกลยุทธ์การแข่งขันเช่นกัน ก็คือโมเดลของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ธุรกิจได้สร้างให้มีขึ้น
 หลักการง่ายๆของห่วงโซ่นี้ก็คือ > ออกแบบผลิตภัณฑ์ > ผลิตหรือจัดสร้าง > ส่งลงตลาดให้ถึงมือลูกค้า > จัดส่งและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ให้เติบโต
          หลักความคิดของไมเคิล อี พอร์เตอร์ ยังคงเป็นจริงจนถึงทุกวันนี้ หากธุรกิจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติได้จริงๆแล้ว ย่อมจะทำให้สามารถดำรงอยู่ในความได้เปรียบเชิงแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
แหล่งอ้างอิง http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=21121&page=1

รัตนาพรรณ  คงกล่ำ รหัส 5130125401250
บทที่ 11
 การบริหารการจัดการธุรกิจสีเขียวและการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ความหมายของ 'green business'
          "ธุรกิจสีเขียว" หมายถึง องค์กรที่ประกอบธุรกรรมโดยมีปณิธานในการทำงานที่มุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายของโลกมนุษย์ อาทิ อากาศ ต้นน้ำ ลำธาร ป่าไม้ สัตว์ป่า พืชพันธุ์ธัญญาหาร แมลง ฯลฯ มีชีวิตอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศวิทยาที่ดีที่สุดและอย่างยั่งยืนที่สุด
            การดำเนินธุรกิจหรือแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา ล้วนมีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อยอยู่ทุกนาที แค่อยู่กับบ้านทำอาหาร อาบน้ำแต่งตัว เข้านอน ฯลฯ ก็ล้วนสามารถสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลา
          ลองคิดง่าย ๆ เช่น ทอดไข่เจียวรับประทานกับข้าว เวลาล้างกระทะที่มีน้ำมันติดอยู่ คราบน้ำมันก็จะไหลผ่านท่อน้ำในอ่างส่งตรงไปยังท่อระบายน้ำรวมทันที โดยไม่มีระบบกรองหรือกักคราบน้ำมันใด ๆ ทั้งสิ้น นี่ยังไม่คิดถึงน้ำยาล้างจานที่เป็นสารเคมีอีก เวลาอาบน้ำแต่งตัว? คราบสบู่ แชมพูสระผม สเปรย์ผม ก็ล้วนสร้างมลพิษให้น้ำและอากาศทั้งสิ้น เวลานอน? อากาศร้อนก็ต้องเปิดแอร์ ซึ่งทำให้บรรยากาศของโลกร้อนขึ้นทุกวันเช่นกัน ทำยังไงได้? ก็มันร้อนนี่นา เมื่อใช้ก็ต้องทดแทน เมื่อรับเอาก็ต้องรู้จักให้คืน
          เราคงต้องยอมรับความจริงว่าการใช้ชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ ต้องใช้ทรัพยากรและทำลายทรัพยากรมากพอสมควร ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจบางอย่างก็มีผลในทางทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น ธุรกิจค้าไม้ ขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น ส่วนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางอ้อมนั้น คงไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างแล้ว
          อย่างไรก็ตาม การเป็นองค์กรสีเขียวไม่ได้หมายความว่ากระดุกกระดิกทำอะไรไม่ได้เลย ห้ามใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยเด็ดขาด อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่การเป็นหรือพยายามเป็นองค์กรสีเขียวหมายความว่า มีนโยบายและกระบวนการในการประกอบธุรกิจที่พยายามใช้ หรือทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และหากเป็นไปได้ก็ต้องพยายามสร้างขึ้นทดแทน หรือพยายามบำบัดสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการตัดไม้มาใช้ ก็ต้องปลูกป่าทดแทน เป็นต้น หรือถ้าของบางอย่างมันสร้างทดแทนไม่ได้เช่น ถ้าขุดน้ำมันหรือถ่านหินมาใช้แล้ว ก็คงสร้างขึ้นมาคืนสู่ธรรมชาติไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีขุดเจาะน้ำมันหรือถ่านหินที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด รวมทั้งมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากน้ำมัน หรือถ่านหินให้ได้สูงสุด และมีกากของทรัพยากรเหลือทิ้งน้อยที่สุด
          สรุปก็คือว่า การประกอบธุรกิจสีเขียวคือ การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโลก เพราะโลกเรานี้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ อย่าแก้ปัญหาอย่างมักง่าย แค่ให้พ้น ๆ ตัว แต่มันไม่พ้นจากโลกนี้ แล้วก็จะกลับย้อนมาหาตัวต้นตอในที่สุด หนีไม่พ้น ยกตัวอย่าง เช่น การที่ประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศ มีกากขยะนิวเคลียร์อันเป็นสารพิษมีอันตรายร้ายแรง ความที่รัฐบาลของประเทศตนเองมีกฎหมายควบคุมการกำจัดสารพิษอย่างเคร่งครัด ดังนั้น จึงได้ลักลอบขนเอากากนิวเคลียร์ใส่เรือลอยในมหาสมุทร ซึ่งถือเป็นน่านน้ำสากลไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของคอยตรวจตราดูแล แล้ววันหนึ่งเรือลำนั้นก็ลอยไปเกยหาดของประเทศใดประเทศหนึ่ง ที่กลายเป็นแพะโดยจำใจ และก็มีหลายกรณีเช่นกัน ที่บริษัทยักษ์ใหญ่บางบริษัททำการเจรจากับรัฐบาลที่เห็นแก่เงินของประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ เพื่อทิ้งกากขยะ กากสารพิษต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นกรรมของประชาชนตาดำ ๆ ของประเทศนั้นไป
ระดับ 'ความเขียว' ของธุรกิจ
           การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ หรือไร้ค่าใช้จ่าย ในทางตรงกันข้ามมันเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่ด้วยพอสมควร (หรืออาจแพงมาก ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ) จะอาศัยเพียงจิตสำนึกความรับผิดชอบเพียงปัจจัยเดียวไม่เพียงพอ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบเอาเสียเลย โลกของเราคงถล่มทลายแน่จากปัญหา global warming (ภาวะโลกร้อน) คงกลายเป็น global boiling (ภาวะโลกเดือดพล่าน) เป็นแน่
          องค์กรแต่ละองค์กรสามารถเลือกวางนโยบายได้ว่า ตนเองมีความต้องการและความพร้อมที่จะ "เขียว" ขนาดไหน ซึ่งปัจจัยที่นำมาพิจารณาในการเลือกระดับความเขียว (หรือระดับความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มีดังนี้
ปัจจัยที่ 1 : ระดับศีลธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบของเจ้าของบริษัทหรือ CEO
          คงปฏิเสธไม่ได้ว่า บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดระดับความรับผิดชอบขององค์กรคือ ผู้นำระดับสูงสุดนั่นเอง ดังนั้น ค่านิยมและความเชื่อส่วนตัวของผู้นำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด อันมีผลกระทบต่อความเชื่อ ทัศนคติและพฤติกรรมของพนักงานทั้งองค์กร
ปัจจัยที่ 2 : กฎหมายที่ควบคุมผู้ประกอบการ
          ในแต่ละประเทศจะมีกฎข้อบังคับ ข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ สำหรับธุรกิจแต่ละประเภทอยู่แล้ว เช่น ต้องมีการบำบัดน้ำเสียอย่างไร ต้องมีการดูแลเรื่องควันพิษอย่างไร ฯลฯ ซึ่งการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดนั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติขั้นต่ำที่สุดแล้ว เพราะถ้าไม่ทำตามก็ถือว่าผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามมีผู้ประกอบการหลายคนไม่สนใจข้อกฎหมาย โดยใช้วิธีหลบเลี่ยงหรือติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปิดปากไม่ให้เอาเรื่องก็มีถมไป มิฉะนั้นแม่น้ำแม่กลองของเราคงไม่เน่าจนปลาลอยตายเป็นแพให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
ปัจจัยที่ 3 : ทัศนคติของผู้บริโภคและสาธารณชน
          ปัจจุบันนี้ชาวบ้านอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ เริ่มมีหูตากว้างขวางและมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น อีกทั้งมีสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้เรา ดังนั้น เมื่อมีผู้เดือดร้อน เช่น เหม็นกลิ่นควัน น้ำเน่า คันตามตัวเพราะพิษจากสารเคมี ฯลฯ จึงสามารถร้องเรียนเรียกค่าเสียหายได้ หรือแม้กระทั่งธุรกิจนั้นยังไม่เปิดกิจการแต่สาธารณชนมีความกังวลห่วงใยว่า จะสร้างผลกระทบทางลบต่อสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของพวกเขาสาธารณชนก็สามารถทักท้วงหรือประท้วงต่อต้านจนธุรกิจล้มก็ยังไหว
          ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องใคร่ครวญปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ให้ดีว่า บริษัทของตนเองควรจะมีความเขียวในระดับใดจึงจะเหมาะสมกับเงื่อนไขต่าง ๆ นี้

แหล่งอ้างอิง http://www.waterlab-dwr.com/wizContent.asp?wizConID=266&txtmMenu_ID=7













ไม่มีความคิดเห็น: