หน้าเว็บ

น.ส.สุนิสา ปิ่นชูทอง รหัส 5130125401212 กศ.พบ.รุ่น 19 หมู่ 1 การจัดการทั่วไป


บทที่  10  การแข่งขันในตลาดโลกและการปรับตัวเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

วิธีรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน
         ความได้เปรียบทางการแข่งขัน เป็นสุดยอดปรารถนาของทุกกิจการที่ต้องดำเนินงานท่ามกลางความผันแปรที่ เปลี่ยนแปลง ซึ่งทุกธุรกิจย่อมจะทำทุกวิถีทางที่จะเฟ้นหากลยุทธ์ที่เฉียบคมที่สุด เพื่อนำมาสู่การสร้างความได้เปรียบดังกล่าวเหนือคู่แข่ง
         แต่อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งความได้เปรียบที่เหนือชั้นนั้น ยังไม่ยากลำบากเท่ากับรักษามันเอาไว้ บ่อยครั้งที่หลายท่านคงเห็นบริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยเกรียงไกรอย่างมาก แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาและสภาวะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งบางแห่งถึงกับล้มไปโดยที่ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมายืนอยู่จุดเดิมได้อีกเลย
         จึงเริ่มมีการพยายามวิเคราะห์หาแนวคิดกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่นอกจากจะนำไปสู่ความได้เปรียบแล้ว ยังต้องสามารถทำนุบำรุงให้คงอยู่ในระยะยาวอย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย เนื่องจากไม่มีคู่แข่งรายใดที่จะยอมอยู่เฉย มองดูธุรกิจของเราเติบโตต่อไปได้อย่างราบรื่น หากกิจการของเราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ก็ต้องมีผู้ที่พยายามจะเข้ามาร่วมต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์จากความสำเร็จนั้น ด้วย ไม่ช้าก็เร็ว
ดังนั้น จึงมีเทคนิคบางประการมานำเสนอ เพื่อนำสู่ความได้เปรียบในการดำเนินงานที่คงทนถาวรมากขึ้น
          ประการแรก คือ กล้าเสี่ยงกับการสร้างสรรค์ โดยกิจการควรสนับสนุนการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ และทดลองที่จะนำแนวคิดที่แตกต่างลงสู่การปฏิบัติ แม้ว่าบ่อยครั้งความคิดนั้น ๆ จะดูแปลกแหวกแนว จนอาจจะถูกคนอื่นๆหัวเราะเยาะและเย้ยหยันว่าเป็นไปไม่ได้ก็ตาม
         เจฟ เบซอส ผู้ก่อตั้ง อเมซอนดอทคอม อันลือลั่น ก็กล่าวยืนยันว่า "การที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ๆนั้น มักจะทำให้เราถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดในสายตาของคนรอบข้างเสมอ" แต่หากกิจการไม่เสี่ยงที่จะทดลองเลยนั้น ก็ไม่สามารถจะลิ้มรสของความเป็นผู้นำที่แตกต่างได้เลย โดยเครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่างที่อเมซอนคิดค้นขึ้น เพื่อนำมาสู่การให้บริการค้าปลีกออนไลน์ต่อลูกค้าอย่างล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็นระบบแนะนำสินค้าแบบตัวต่อตัว ระบบเว็ปเพจส่วนบุคคล ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เคยถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ทั้งสิ้น
         หรือแม้แต่ คีออสเพลงดิจิตอลของสตาร์บัค หรือ ระบบค้นหาข้อมูลระดับโลกของกูเกิล ก็ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างหนาหูทั้งสิ้น แต่สิ่งต่าง ๆ ก็ได้นำมาความสำเร็จที่แตกต่างมาสู่กิจการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


         ซึ่งการที่กล้าเสี่ยงกับการสร้างสรรค์นี้ ไม่ควรแต่จะมุ่งเน้นในการพิจารณาเฉพาะการเคลื่อนไหวของคู่แข่งโดยตรงใน ปัจจุบันเท่านั้นนะครับ เพราะจะทำให้เป็นการสร้าง "กรอบ" ในแนวความคิดของกิจการเอง อาจส่งผลให้ไม่สามารถคิดออกไปนอกกรอบหรือแนวทางที่ต่างไปจากที่อุตสาหกรรม และการแข่งขันปัจจุบันเป็นอยู่ก็ได้ จึงยากที่จะแตกต่างอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงไม่ควรเพียงแต่ "look around" เท่านั้น แต่ควรจะ "look ahead" มองออกไปข้างหน้าโดยไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเห็นหรือเคยดำเนินการอยู่
         เทคนิคประการที่สอง คือ อย่าลุ่มหลงกับการเพิ่มขนาดเท่านั้น ควรเน้นที่การสร้างความเป็นเอกลักษณ์มากกว่า หลายธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มักจะคิดว่าการเติบโตหรือขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ จึงมีความพยายามที่จะเพิ่มขนาดอย่างต่อเนื่อง
         แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความได้เปรียบทางการแข่งขัน มิได้ขึ้นอยู่กับขนาดแต่เพียงอย่างเดียว ยิ่งขนาดใหญ่ขึ้น แต่หากทุกอย่างกลับขาดความโดดเด่น จะยิ่งทำให้เป็นภาระทางการดำเนินงานเสียเปล่า ดังนั้น การมุ่งเน้นที่เอกลักษณ์เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านที่พิเศษแตกต่าง จริง ๆ จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความมั่นคงในการแข่งขันมากกว่า
         วอลล์-มาร์ท ห้างค้าปลีกที่ใหญ่สุดในโลก ก็เริ่มที่จะทำนุบำรุงความได้เปรียบทางการแข่งขันของตน โดยมิได้พึ่งพาเรื่องของขนาดเท่านั้น แต่มุ่งเน้นให้วอลล์-มาร์ทกลายเป็นธุรกิจบริการที่ใส่ใจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงจะเป็นตัวกลางในการนำเสนอแต่ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพ และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม เพื่อให้เหมาะสมกับแนวโน้มความต้องการของสังคม โดยสินค้าที่นำมาจำหน่ายในร้านจะต้องสามารถติดตามกลับไปยังต้นแหล่งได้เสมอ เพื่อยืนยันถึงความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อโลกอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์จากค้าปลีกรายอื่น ๆ
         เทคนิคประการที่สาม คือ อย่าดึงดันกับการแข่งขันแต่เพียงอย่างเดียว ควรหาตลาดใหม่เพื่อฉกฉวยโอกาสในการเติบโตด้วย โดยแนวคิดนี้เน้นว่าควรใส่ใจในการสร้างสรรค์โอกาสทางการตลาดใหม่ๆอยู่ตลอด เวลา แทนที่จะดำเนินงานอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงแต่เพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะเพลี่ยงพล้ำได้ง่าย และผลตอบแทนก็ไม่คุ้มค่า
         เทคนิคที่สี่ คือ โฟกัสที่ลูกค้า มิใช่คู่แข่งขัน ซึ่งอาจจะทำให้เห็นการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจที่อยู่ในความต้องการของตลาดได้ อย่างมาก เช่น บริษัท Caterpillar ที่มีผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องจักรหนักอันลือชื่อ โดยเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างถึงที่สุด จนเกิดความเป็นเลิศด้านบริการ ซึ่งบริษัทสัญญาว่า ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ใดในโลกนี้ ก็สามารถที่จะส่งชิ้นส่วนไปให้บริการได้ภายใน 24 ชั่วโมง
         ซึ่งถือเป็นจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ จนกระทั่งหลายคนมองว่า Caterpillar ขายบริการด้วยซ้ำ และท้ายที่สุด จากการที่กิจการมีการพัฒนาเครือข่ายการขนส่งทั่วโลก ทำให้มีทักษะและเทคโนโลยีสูงมากพอที่จะเข้าแข่งขันในธุรกิจให้บริการทางด้านลอจิสติกส์เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจหลักที่เติบโตสูงสุดของบริษัท และทำรายได้มหาศาลกลับคืนมาทีเดียว
         นอกจากนี้ กิจการยังควรมีการสร้างเครือข่ายสนับสนุนการแลกเปลี่ยนไอเดียและข้อมูล ระหว่างบริษัท เพื่อเป็นการจุดประกายการสร้างสรรค์ รวมถึงควรต้องกระตุ้นให้บุคลากรของเรากระหายในความสำเร็จและพัฒนาอย่างต่อ เนื่องตลอดเวลา จึงจะสามารถวิ่งหนีและกระโดดข้ามคู่แข่งได้ต่อไปในอนาคต

ที่มา : http://www.ezyjob.com/บทความ/การตลาด-วิธีรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน-227.htm

บทที่  11  การบริหารจัดการธุรกิจสีเขียวและการวิเคราะห์กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต

โอกาสของธุรกิจ “สีเขียว” กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวมากเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่รู้จักกันดีว่า “โลกร้อน” ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นพร้อมกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มั่นใจและแน่ใจว่าการที่โลกร้อนขึ้นมีสาเหตุมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล  ภาคอุตสาหกรรมก็เป็นส่วนสำคัญที่เป็นต้นเหตุในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวที่สำคัญที่สุด โดยจากรายงานขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNIDOในปี พ.ศ. 2547 ได้แสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมมีการใช้พลังงานคิดเป็นร้อยละ 26ของการใช้พลังงานของโลก และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นร้อยละ 18.5 อย่างไรก็ดีภาคอุตสาหกรรมนับเป็นภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญ ดังนั้นการผลักดันให้ดำเนินการเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจากแบบสอบถามผู้บริโภคในอังกฤษ (โดย L.E.K. Consulting LLC)พบว่าผู้บริโภคถึงร้อยละ 40คิดว่าผู้ผลิตนั้นจะต้องมีความรับผิดชอบในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงนับว่าเป็นสิ่งท้าทายเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในข้อนี้ แม้ว่าการดำเนินการนี้มีความยุ่งยากในการดำเนินการและมีค่าใช้จ่ายสูงแต่กำลังเป็นแนวทางที่หลายอุตสาหกรรมใหญ่ทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่ นับเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดหรือทัศนคติที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20ปีที่ผ่านมาว่า “มนุษย์เราจะสามารถช่วยโลกที่เปราะบางใบนี้ได้หรือ”ให้เปลี่ยนเป็น“เราจะสามารถรักษาโลกของเราใบนี้ได้อย่างไร”
อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่บริโภคน้ำและพลังงานจำนวนมหาศาล    ซึ่งถ้าให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ เราจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมสิ่งทอและโลกร้อนอย่างชัดเจน  เพราะการใช้พลังงานนั้นสัมพันธ์กับการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยิ่งมีการใช้พลังงานมากก็จะผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่บรรยากาศโลกมากเช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโลกร้อน ในขณะเดียวกันจากงานวิจัยต่างๆที่แสดงให้เห็นว่าโลกร้อนนั้นจะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อทรัพยากรน้ำอย่างมากถึงขนาดทำให้โลกเราขาดแคลนปริมาณน้ำจืดเพื่ออุปโภคและบริโภคด้วย และการใช้น้ำจำนวนมหาศาลของอุตสาหกรรมสิ่งทอก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์การขาดแคลนน้ำจืดของโลกยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ
จากตัวเลขการผลิตสิ่งทอของโลก 60พันล้านกิโลกรัม แสดงว่ามีการใช้พลังงานถึงประมาณ 1,074พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ มีการใช้ถ่านหินประมาณ 132ล้านเมตริกตัน เราสามารถคำนวณการลดการใช้พลังงานดังกล่าวลงได้ และการลดเพียงร้อยละ 30ก็นับว่ามากทีเดียว และคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะลดลงด้วย ถ้าการใช้ถ่านหิน 1เมตริกตัน มีต้นทุนประมาณ 139ดอลล่าร์สหรัฐฯ ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานก็จะสูงถึง 17.2พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ การลดการใช้ลงร้อยละ 30-50ก็จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 5.1-8.6พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ทีเดียว มีนัยสำคัญต่อการลงทุนอย่างมาก
  
นอกจากนี้ กระแสโลกาภิวัฒน์และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของโลกที่เป็นไปอย่างกว้างขวางไร้พรมแดน  ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคตอันใกล้นี้ จะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จทางการตลาด ความยั่งยืนที่เราพูดถึงกันมานานนับ 10ปี ก็จะไม่ใช่เพียงคำโฆษณา หรือ sloganในการรณรงค์ทางการตลาดเท่านั้น แต่จะกลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวและความอยู่รอดของธุรกิจด้วย ผู้บริโภคในยุโรปก็มีความพร้อมและมีกำลังซื้อยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้า “สีเขียว”ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากความสำเร็จของสินค้ายี่ห้อ PatagoniaÒ (ของสหรัฐฯ ซึ่งผลิตเสื้อผ้าที่ใส่ออกนอกบ้านโดยใช้วัสดุ recycle คือ polyesterที่มาจากขวด polyethylene terephthalate (PET)  ที่ผ่านกระบวนการ recycle มาแล้ว แทนการใช้ virgin polyester  หรือกรณีในยุโรปผู้ค้าปลีกรายใหญ่บางรายได้เริ่มขอใบประกาศนียบัตรที่ออกให้โดยบริษัท Carbon Footprintของอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้ามีการผลิตมาอย่างไร เป็นต้น
นอกจากนี้ความคิดที่จะต้องควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ทำให้หลายบริษัทดำเนินการในรูปแบบที่ต่างกัน  ตัวอย่าง เช่น Marks & Spencer, Boots และอีกหลายบริษัท เริ่มมีฉลากคาร์บอน หรือ Carbon Labelติดที่สินค้าแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่เราเห็นไปไกลกว่านั้นก็คือ ยุทธศาสตร์การจัดการคาร์บอนที่ผนวกรวมหรือมีการบูรณาการเข้าไปในยุทธศาสตร์ของบริษัท เพื่อก่อให้เกิดแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกันนั่นเอง
ลองมาดูธุรกิจสิ่งทอที่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดำเนินการเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้บริโภคให้ความสนใจและซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก เป็นการแสดงให้เห็นว่าตลาดสำหรับสินค้า “สีเขียว”นั้นกำลังเกิดขึ้นและน่าจะขยายใหญ่ขึ้นอีกในอนาคต
ห้าง Tescoของอังกฤษก็ได้เริ่มมีการใช้ฉลากที่บ่งบอกปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออก ไซด์ (Carbon FootprintÔlogo)ซึ่งออกให้โดย Carbon Trust  นอกจากนี้ Tesco ได้จัดทำแถลงการณ์ว่าจะมีการพัฒนาเพื่อให้มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฉลากดังกล่าวจะให้ข้อมูลกับผู้บริโภคถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าเพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เรื่องนี้กำลังกลายเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันมากขึ้นด้วย และบริษัทเองก็ตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการด้วย “ความยั่งยืน”นั้น สามารถทำกำไรและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้ธุรกิจอื่นๆดำเนินการตาม  นำไปสู่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ
 
Marks & Spencerของอังกฤษ ได้กำหนดแผนเพื่อให้มีความเป็นกลางในเรื่องการ ปล่อยคาร์บอน (Carbon Neutral)ภายในปีพ.ศ. 2555 และมีการจัดงบประมาณมหาศาลเพื่อดำเนินการดังกล่าว โดยได้เปิดตัวโรงงาน “สีเขียว”ที่ศรีลังกา 2 แห่ง ผลิตชุดชั้นในและเฟอร์นิเจอร์ นับเป็นโรงงาน “สีเขียว”แห่งแรกของโลก ซึ่งส่งมาขายที่อังกฤษ ซึ่งนอกจากจะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตลงแล้ว ยังลดปริมาณการใช้พลังงาน แล้วยังใช้ปริมาณน้ำน้อยลง อีกทั้งไม่ต้องทำการฝังกลบขยะและของเสียอีกด้วย พร้อมกับต้องการให้เกิด “รูปแบบ”การดำเนินการที่รักษาสิ่งแวดล้อมให้กับธุรกิจอื่นๆ และจะมีการขยายโรงงาน “สีเขียว”ดังกล่าวไปยังภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการสร้าง “รูปแบบการดำเนินการโรงงานสีเขียว”ด้วย ผลที่เกิดขึ้นกับโรงงานในศรีลังกาก็คือ โรงงานสามารถลดค่าไฟลงได้กว่าครึ่ง ในขณะที่ค่าไฟกำลังขึ้นราคา และลดการใช้พลังงานโดยรวมลงร้อยละ 43ลดการใช้น้ำลงได้ร้อยละ 58และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึงร้อยละ 77
 
นอกจากนี้ ในฮ่องกงเองก็ได้มีการรวมตัวกันของบริษัทแฟชั่นเสื้อผ้าชั้นนำในประเทศภายใต้ “กลุ่มธุรกิจแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน”(Sustainable Fashion Business Consortium: SFBC)เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจดำเนินการในลักษณะที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีบทบาทสำคัญใน supply chainของแวดวงแฟชั่นด้วย แม้ว่าฮ่องกงเองจะมีการผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอเองน้อยมาก แต่ก็เป็นที่ตั้งของบริษัทแม่ของหลายบริษัทที่ผลิตเสื้อผ้าในจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทบาทของกลุ่มจึงมีความสำคัญมาก โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการหาทรัพยากรจากแหล่งต่างๆอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการใช้แนวทางที่ยั่งยืนภายใต้การใช้วัตถุดิบที่มีความยั่งยืน การลดการใช้พลังงานโดยรวม และการลดผลกระทบจากขยะและสารเคมี ทางกลุ่มเองต้องการเป็นผู้นำของโลกในการ recycleขยะจากผลิตภัณฑ์ฝ้าย (cotton waste)อีกทั้งเพื่อมุ่งสู่การจัดทำและติดฉลากคาร์บอน รวมถึงการเข้าสู่ตลาดการซื้อขายคาร์บอนในอนาคตด้วย
จากกระแสโลกด้านสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนที่กำลังมาแรง ทำให้ความต้องการฝ้ายเพิ่มสูงขึ้นมาก นั่นหมายถึงว่า ไม่เพียงแต่ธุรกิจรายใหญ่ที่มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจและได้ประโยชน์จากกระแสดังกล่าวเท่านั้น ผู้ค้ารายย่อยในประเทศยากจนก็ได้รับประโยชน์ด้วย ผู้ผลิตฝ้ายรายย่อยทั้งในอินเดีย มอริทัส และมาดากัสการ์ ก็ได้เข้าสู่วงจรการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์ฝ้ายจะแพงกว่าผลิตภัณฑ์อื่นถึงร้อยละ 30แต่ด้วยกระแสด้านสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนก็ทำให้ตลาดและความต้องการเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางที่มีรายได้สูง ทั้งนี้ กลุ่มผู้ค้าเหล่านี้ส่งสินค้าให้กับทาง Marks & Spencerของอังกฤษ ซึ่งมีการใส่ชื่อ websiteบนสินค้าเพื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าไปดูและรับรู้ถึงที่มาของสินค้านั้นๆได้
 
ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้นำแฟชั่นเพื่อการลดผลกระทบจากอุตสาหกรรมสิ่งทอต่อสิ่งแวดล้อม (Reducing the Impact of Textiles on the Environment Group)ในอังกฤษ ก็ได้ทำการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคเสื้อผ้าแฟชั่น และพบว่าร้อยละ 80 มีพฤติกรรมการซื้อที่ส่วนหนึ่งตัดสินใจจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ประเด็น “สีเขียว”ผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นจึงไม่อาจมองข้ามเรื่องนี้ได้  ทำให้กลุ่มผู้ผลิตและผู้ขายเสื้อผ้าแฟชั่นทั้งหลายโดยเฉพาะในอังกฤษและยุโรป ดำเนินการตอบรับกับกระแสดังกล่าว  ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีที่ปลอดภัยมากขึ้น การใช้เส้นใยธรรมชาติ เช่น ฝ้ายและใยกัญชงในการผลิตมากขึ้น การติดฉลากเพื่อความโปร่งใส การนำกลับมาใช้ใหม่ การซักล้างที่อุณหภูมิ 30˚C เป็นต้น
 
สินค้ายี่ห้อดังอย่าง Levi Straussก็มีการใช้ฝ้ายธรรมชาติและกะลามะพร้าว เพื่อสร้างภาพลักษณ์กระแสรักสิ่งแวดล้อมให้กับสินค้า Timberlandก็มีการติดป้ายดัชนีสีเขียวให้กับสินค้าเพื่อแสดงความโปร่งใส และเพื่อช่วยในการตัดสินใจในการซื้อกับผู้บริโภค ดัชนีสีเขียวดังกล่าวจะบอกปริมาณการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตของสินค้าแต่ละชิ้นที่นำมาขาย รวมถึงข้อมูลการใช้พลังงานที่เกี่ยวกับโลกร้อน และทรัพยากรอื่นๆ แต่ไม่รวมเรื่องการขนส่ง นอกจากนี้ เส้นด้ายของ Patagonia ก็ได้มีการพัฒนาไปมาก สามารถลดขยะที่จะต้องนำไปฝังกลบในสหรัฐฯ และได้ตั้งเป้าให้มีเส้นด้ายที่สามารถนำไปผ่านกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ร้อยละ 100ภายในปีพ.ศ. 2553 นอกจากนี้ยังมียี่ห้ออื่นๆอีก ไม่ว่าจะเป็น C&Aของเยอรมนี ก็ตั้งเป้าให้มีการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนทั้ง 750ห้างทั่วโลกภายในปีพ.ศ. 2553 รวมทั้งใช้ถุงจากวัสดุที่ผ่านกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ มีการติดฉลากรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยหวังจะให้มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 70,000 ตัน ภายในปีพ.ศ. 2552และลดได้เพิ่มขึ้นกว่า 100,000ตัน ภายในปีพ.ศ. 2553 ยี่ห้อ GAPในสหรัฐฯเองก็ได้ตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 11ต่อตารางฟุตในช่วงปีพ.ศ. 2546-2551 โดยใช้มาตรการการอนุรักษ์พลังงาน การออกแบบที่ยั่งยืนและการใช้กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่  ยี่ห้อ H&Mของสวีเดนเอง ก็มีการส่งเสริมให้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกับทั้ง 1,432ร้านสาขา และตั้งเป้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 10ในช่วงปีพ.ศ. 2548-2552 เป็นต้น
 
แผนภาพ : ความสัมพันธ์ของความยั่งยืน
ตัวอย่างการดำเนินการที่เกิดขึ้นในโลกในขณะนี้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า และแฟชั่น ที่ตอบรับกับกระแสด้านสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนนั้น ทำให้เราเห็นถึงโอกาสในเรื่องธุรกิจ และการใช้ประเด็นดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจไปอย่างยั่งยืนและสมดุลในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลาดและความต้องการสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันมาจากกฎหมายในระดับประเทศหรือประเทศที่นำเข้าสินค้า หรือจากความตระหนักของผู้บริโภคเองก็ตาม ได้เกิดขึ้นแล้วและมีแนวโน้มที่ชัดเจนที่จะขยายตัวอีกมากในอนาคตอันใกล้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าของไทยเองจึงต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนให้ทันกับกระแสของโลกดังกล่าวด้วย และหากเป็นไปได้ก็น่าจะดีไม่น้อยถ้าได้เห็นกระแสความต้องการหรือตลาดหรือหรือผู้บริโภคของไทยเราเอง ที่ใส่ใจและตระหนักในเรื่องนี้ด้วย เราจะได้มีสินค้าเสื้อผ้าที่เป็น “สีเขียว”ในท้องตลาดบ้านเรา
 


ที่มา : โดย ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
http://www.thaitextile.org/environment/article_envi.php?id=ARC0120209153212


ไม่มีความคิดเห็น: