หน้าเว็บ

นางสาว อัสรา พัฒนพูสกุล รหันักศึกษา 5230135401​271



การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

1. การเตรียมความพร้อมของภาครัฐ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลุ่มงานหรือส่วนงานที่รับผิดชอบประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรง (ASEAN Unit) ในแต่ละหน่วยงาน การพัฒนาศักยภาพข้าราชการทั้งด้านการทำงานในเวทีระหว่างประเทศ และทักษะภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กรอบอาเซียน

2. การเตรียมความพร้อมของภาคประชาชน โดยการสร้างความตระหนักรู้ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน

· ผ่านกิจกรรมอาเซียนสัญจร กิจกรรมวันอาเซียน โครงการสัมมนาครูต้นแบบสู่ประชาคมอาเซียน ค่ายยุวทูตอาเซียน การจัดทำสื่อเผยแพร่ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ รายการโทรทัศน์ วิทยุสราญรมย์ของกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งการจัดสัมมนาและการส่งวิทยากรบรรยาย ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการแล้วปีละกว่า 200 ครั้ง

· เครือข่ายศูนย์อาเซียนศึกษา และหลักสูตรอาเซียนศึกษา ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ

3. การเตรียมความพร้อมของภาคเอกชน มีผู้แทนภาคเอกชนในคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานทั้งสามข้างต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถใช้โอกาสจากการเปิดตลาดเสรีอาเซียนได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งความสำคัญกับการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อลดทอนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community)

อาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 โดยมีเป้าหมายให้อาเซียนมีตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี อาเซียนได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) ซึ่งเป็นแผนงานบูรณาการดำเนินงานให้ด้านเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 4 ด้านคือ

1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนให้เป็นรูปธรรม โดยได้กำหนดเป้าหมายเวลาที่จะค่อยๆ ลดหรือยกเลิกอุปสรรคระหว่างกันเป็นระยะ ทั้งนี้่ กำหนดเป้าหมายให้ลดภาษีสินค้าเป็น 0% และลดหรือเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี สำหรับประเทศสมาชิกเก่า 6 ประเทศภายในปี 2553 เปิดตลาดภาคบริการและเปิดเสรีการลงทุนภายในปี 2558 และเปิดเสรีการลงทุนภายในปี 2553

2. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียนโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายภาษี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (การเงิน การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศและพลังงาน)

3. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ให้มีการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านโครงการต่างๆ เช่น ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration-IAI) เป็นต้น เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก

4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันอย่างชัดเจน เช่น การจัดทำเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในด้านการผลิต/จำหน่ายภายในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นความท้าทายที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออก นำเข้า หรือผู้ที่ทำธุรกิจภายในประเทศ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม และยังรวมไปถึงผู้ประกอบการระดับชุมชนด้วย ในการที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจ หรือแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่ท้าท้ายความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้การทำมาค้าขายของเราเป็นไปอย่างเสรี นั่นคือการลดภาษี จนเหลือศูนย์ ซึ่งประเทศสมาชิกได้ทำมาอย่างต่อเนื่องและเกิดผลแล้วในวันนี้ ใน 6 ประเทศสมาชิก ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนและจะครบทั้ง 10 ประเทศภายในปี 2015(แต่ยังคงมีข้อยกเว้นเฉพาะสินค้าที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ศีลธรรม ชีวิต และศิลปะ) รวมทั้งการกีดกันทางการค้าเช่นระบบการกำหนดโควต้าในการนำเข้า ก็จะหมดไป ในเรื่องนี้จะมีผลที่ตามมามากมาย เช่นเราจะใช้สินค้า อาหารและบริการต่างๆ ในราคาที่ถูกลงเพราะที่ผ่านมาการเก็บภาษีและการกำหนดโควต้าในการนำเข้าทำให้ราคาสินค้าและพืชผลทางการเกษตรของเราราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่นอุตสาหกรรมพวกน้ำมันพืช เสื้อผ้า สิ่งทอ ด้าย ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนทำได้ดีกว่าและราคาถูกกว่าเรามากสินค้าต่างๆ เหล่านี้จะถูกนำเข้ามาขายในราคาต่ำ เสื้อผ้า ของใช้ทั่วๆ ไปจะมีราคาถูก พืชผลทางการเกษตรจะมีการส่งออกและนำเข้าในกลุ่มประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นมากมาย ราคาสินค้าทางเกษตรจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของภูมิภาคนี้ เช่นผักผลไม้ที่เรามีการส่งออกเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ราคาผักผลไม้ประเภทนั้นมีราคาสูงขึ้น แต่จะมีอาหารและผลไม้ราคาถูกมากมายจากประเทศเพื่อนบ้านมาขายในราคาต่ำกว่าที่เราเคยซื้อ เช่นกระเทียมจากพม่า ปลาจากเขมร เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ จากเวียดนาม นั่นคือ เราจะทำมาค้าขายกับอาเซียนมากขึ้นเพราะการไม่มีภาษีนำเข้าทำให้บรรดาผู้ผลิตของเราที่เคยนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่นๆซึ่งต้องเสียภาษีต้องหันมาซื้อของและวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกเพื่อต้นทุนที่ต่ำกว่า เพราะการไม่มีภาษีในการส่งออก ทำให้เราจะมุ่งเน้นในการขายสินค้าให้กลุ่มประเทศอาเซียน เพราะจะเป็นโอกาสในการทำกำไรได้มากกว่า

ประเทศไทย คงต้องใช้แนวทางที่ในหลวงทรงพระราชทานไว้ คือเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นตลาดภายในประเทศ และกลุ่มอาเซียน อย่างโครงการ ไทยเที่ยวไทย ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ใช้ของที่เราทำเองแนวทางนี้จะได้รับการส่งเสริมและช่วยให้เราสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ตอนนี้ สินค้าแบรนเนมจากทั่วโลกแทบทุกยี่ห้อต่างก็ไปจ้างโรงงานในจีนผลิตแล้วส่งออกไปขายทั่วโลก คนอเมริกันและยุโรปใช้ของที่ผลิตในประเทศจีนแทบทุกอย่าง ทีวี ตู้เย็น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องใช้ในครัวเรือน และอุปกรณ์กีฬาชื่อดังล้วนมาจากจีน แต่การรวมกลุ่มของอาเซียน อาจมีผลทำให้บริษัทเหล่านี้ อาจคิดมาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศกลุ่มสมาชิกเพราะจะได้รับการยกเว้นภาษี คือเมื่อผลิตออกมาแล้วก็สามารถขายให้คน 550 ล้านคนแบบไม่เสียภาษี เพราะเงื่อนไขของสินค้าที่ถือว่าผลิตในอาเซียน คือต้องมีวัตถุดิบที่เป็นของอาเซียน 40%

ในด้านการลงทุน

ในบางอุตสาหกรรมที่เราสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนสูงกว่า หรือความรู้ความชำนาญน้อยกว่า เทคโนโลยีต่ำกว่า สินค้าทางการเกษตรที่เรามีราคาสูง ต้นทุนสูง ก็ต้องปรับตัว เช่น แต่ก่อนเคยผลิตขายก็อาจหาแนวทางใหม่ๆ เช่นเปลี่ยนเป็นการนำเข้า และทำการตลาดแทน คือถ้าผลิตสู้ไม่ได้ก็อย่าไปฝืนเพราะเมื่อเปิดเสรีแล้วยังไงๆ ก็ต้องเจอสภาพการแข่งขันที่ไม่มีกรรมการช่วย ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรของไทยควรต้องเร่งศึกษาหาข้อมูลอย่างยิ่ง คือรายละเอียดของการผลิต ราคา ต้นทุน ของสินค้าและบริการต่างๆ ที่เหมือนกับเราต้องเปรียบเทียบ ต้องคิด และใช้โอกาสนี้ในการวางแผนเพื่อปรับตัวและการพัฒนาเยาวชนเพื่อรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

อ้างอิง: โดย อ.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์

อ้างอิง : การก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอาเซียน สืบค้นจาก http://moac2aec.moac.go.th/ewt_news.php?nid=45 สืบค้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น: