หน้าเว็บ

นางสาว อัสรา พัฒนพูสกุล รหันักศึกษา 5230135401​271



การบริหารจัดการธุรกิจสีเขียวและวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การทำการตลาดสีเขียว มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ

1. การนำเสนอให้ตลาดผู้บริโภคทั่วไปได้เห็นและเกิดความเข้าใจว่า สิ่งที่บริษัทหรือองค์กรกำลังทำอยู่นี้จะช่วยเหลือสภาพแวดล้อมของโลก ทั้งในเชิงกว้างและในระดับสังคม ชุมชนแวดล้อมได้อย่างไร

2. นำเสนอสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

3. ใช้วิธีการที่เป็นสีเขียวเช่นกัน ในการนำเสนอองค์ประกอบข้อ 1 และ ข้อ 2 ที่ได้กล่าวมา ซึ่งวิธีการข้อที่ 3 เป็นข้อที่นักการตลาดทั่วไป อาจต้องปรับแนวความคิดเดิม ๆ หันมาสู่การคิดหาวิธีการที่จะทำให้วิธีการทางการตลาดเป็นสีเขียวให้ได้มากที่สุด เช่น การใช้วัสดุประกอบการตลาด อาทิ กระดาษที่ใช้ในการพิมพ์เอกสารการตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้หมึกพิมพ์ที่ไม่สร้างมลภาวะ และมองไปถึงว่าวัสดุเหล่านั้น หลังจากทำหน้าที่ทางการตลาดสื่อความสำคัญไปยังผู้บริโภคแล้ว ผู้บริโภคจะมีวิธีในการกำจัดทิ้งอย่างไรจึงจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงลบ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำได้ด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม

นักการตลาดซึ่งโดยธรรมชาติมักจะเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านการคิดสร้างสรรค์สูงอยู่แล้ว หากจะหันกลับมาคิดสร้างสรรค์ในเรื่องของเอกสารทางการตลาดที่เป็นสีเขียวได้ ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย แถมยังจะได้เป็นข้อพิสูจน์ให้ผู้บริโภคและคนทั่วไปได้เห็นว่า ความมุ่งมั่นขององค์กรที่ต้องการจะทำธุรกิจให้เป็นสีเขียวนั้น สามารถทำได้อย่างครบวงจรอย่างแท้จริงอีกด้วย

นอกจากสื่อเอกสารทางการตลาดที่เป็นสีเขียวแล้ว วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือกิจกรรมทางการตลาดอื่น ๆ นักการตลาดก็สามารถเลือกใช้แต่สิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือทำลายธรรมชาติ หรือใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น การหันกลับมาใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่จะไม่ทำให้เกิดการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กลยุทธ์การตลาดแบบปากต่อปาก ซึ่งถึงแม้ว่า อาจจะส่งผลตอบกลับที่ไม่รวดเร็วนัก แต่เป็นกลยุทธ์ที่ทรงอิทธิพลและสร้างความจงรักภักดีจากลูกค้าและผู้บริโภคได้ดีที่สุด อีกทั้งยังเป็นวิธีที่มีความเป็น "สีเขียว" อยู่ในตัวอย่างมาก เพราะอาจไม่ต้องพึ่งพิงการใช้วัสดุหรือพลังงานอื่น ๆ ให้สิ้นเปลืองมากนัก วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ แทบจะไม่ต้องพึ่งพาอาศัยวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลืองต่าง ๆ มากนัก แต่อาจจะต้องใช้พลังงานของคนมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ความนิยมใช้อาจลดลง เพราะคนมีแนวโน้มที่จะไม่อยากทำงานเสียพลังงานของตนเองมากไป โดยหันไปใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองทรัพยากรของโลกซึ่งทำให้เกิดความสะดวกสบายมากกว่า แต่เป็นการทำให้โลกต้องตกอยู่ในสภาพที่ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลืองและรวดเร็ว การใช้สื่อระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบอินเทอร์เน็ต ก็อาจจะลดความสิ้นเปลืองของการทำการตลาดแบบเดิม ๆ ไปได้มากเช่นกัน จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นักการตลาด "สีเขียว" อาจเลือกนำมาใช้ได้

ประเด็นสุดท้ายที่ต้องกล่าวถึงในเรื่องของการทำการตลาด "สีเขียว" ก็คือ เรื่องของเนื้อหาหรือการสื่อข้อมูลไปยังผู้บริโภคว่าสินค้าหรือบริการที่ทำตลาดอยู่เป็นสินค้าหรือบริการ "สีเขียว" โดยที่เป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น เพื่อพยายามสร้างกระแส "สีเขียว" ให้กับสินค้าหรือบริการ เพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว โดยแอบอ้างความเป็นจริงที่รู้ว่า การพิสูจน์ว่าสินค้าหรือบริการ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการที่ใช้ในการผลิตหรือบริการไม่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซโลกร้อนออกสู่บรรยากาศ ฯลฯ นั้น เป็นเรื่องที่อาจจะไม่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงเวลาสั้น ๆ การตลาดที่ชักนำให้ตลาดหรือผู้บริโภคเข้าใจผิดนั้น ถือได้ว่าเป็นการตลาดที่ไม่เป็น "สีเขียว" เช่นกัน

ในส่วนของผู้ประกอบการ การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานแบบกรีนมากขึ้น ถูกมองว่าจะช่วยในการสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันที่ใช้กับคู่แข่งขันได้ ยกระดับคุณธรรมของบุคลากร ยกระดับสภาพแวดล้อมการทำงานให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานด้านพนักงานและเพิ่มประสิทธิภาพ จนทำให้ผลการประกอบการดีขึ้น ทำให้สาธารณชนตระหนักว่ากิจการให้ความสำคัญกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจในสินค้าและบริการที่วางจำหน่าย เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มีความต้องการในสินค้าและบริการ

แบทเทลล์ (Battelle) กับ 10 แนวโน้มของกรีนในอนาคต

แนวโน้มแรก การเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานยั่งยืนและหมุนเวียนใช้ใหม่สำหรับเครื่องปั่นไฟฟ้าใช้ อันเนื่องมาจากการเติบโตของประชากร รวมถึงการขยายตัวออกไปของตัวเมือง โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย จะทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และไฟฟ้าควรจะเป็นพลังงานสะอาด หาไม่ได้มาจากการเผาเหมืองถ่านหิน หรือการสร้างมลภาวะ และแก๊สเรือนกระจก พลังงานในปี 2012 จะเพิ่มความสนใจในพลังงานลม พลังงานโซลาร์ เซลล์เชื้อเพลิงเหลว เชื้อเพลงจากไบโอ เทคโนโลยีการเผาถ่านที่ทำให้โลกสะอาด

แนวโน้มที่สอง การบริหารทรัพยากรน้ำ ด้วยการใช้ซ้ำและรีไซเคิลน้ำมาใช้ใหม่ เป็นอีกหนึ่งของความพยายามจะประหยัดน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคไว้ให้มากที่สุด ที่เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในวงการกรีนตามลำดับ การดำเนินการเรื่องนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดขึ้นกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จนทำให้ได้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการบริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิผลมากขึ้น ควบคู่กับการปรับปรุงคุณภาพของน้ำดื่มน้ำใช้ ทำให้พี้นที่แห้งแล้งและอยู่อาศัยไม่ได้ในโลกลดลง และการตั้งโรงงานบำบัดเพื่อบริหารจัดการกับบรรดาน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือน

แนวโน้มที่สาม การออกกฎหมายและนโยบายในการควบคุมการสร้างคาร์บอน เป็นการพยายามใช้เกณฑ์ภาคบังคับผสมกับความสมัครใจในการควบคุมระดับการสร้างคาร์บอนในระดับประเทศ โดยการลงนามร่วมกันของผู้บริหารประเทศและระหว่างรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในระยะต่อไป อาจมีการออกกฎหมายที่ควบคุมการระดับการสร้างคาร์บอนของรถยนต์แต่ละคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนน หรือการเก็บภาษีรถที่สร้างคาร์บอน เพื่อให้การควบคุมคาร์บอนอยู่บนมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งโลก การพัฒนาความเข้มงวดของกฎหมายน่าจะทำให้การผลิตสินค้าสะอาด และระบบพลังงานในรถยนต์เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร

แนวโน้มที่สี่ คือ การเกิดธุรกิจที่ใช้โมเดลเกี่ยวข้องกับกรีนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งที่ผ่านมาได้เกิดสภาวการณ์นี้แล้ว โดยเป็นกิจการที่คำนึงถึงสังคม ใช้โมเดลการดำเนินงานแบบกรีนครบวงจร และขายกรีนโปรดักส์ของตนให้กับสังคม โดยยังสามารถเลี้ยงชีพและดำรงกิจการอยู่ได้ การดำเนินงานของกิจการเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีสะอาดในการดำเนินงานทั้งหมดและถ่ายนทอดลงไปสู่ผู้ประกอบการรายอื่น เช่น รับบริหารการสูญเปล่าด้านอุตสาหกรรม และการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองน้อยลง โดยผู้ประกอบการที่ลงทุนซื้อเทคโนโลยีกรีนเหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์ด้วย

แนวโน้มที่ห้า การขนส่งและคมนาคมที่เป็นกรีน เนื่องจากไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของแก๊สเรือนกระจกมาจากรถยนต์ การสร้างรถยนต์มากขึ้นก็คือการสร้างคาร์บอนมากขึ้นด้วย เน้นที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานยั่งยืนเพื่อให้กับรถยนต์ รวมทั้งอีเธอนอล และพลังงานไบโอทั้งหลาย ที่มีการสำรวจและวิจัยกันมากมาย และคาดว่าจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตรถยนต์พลังงานผสมหรือไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นสิ่งที่จะปรากฏโฉมในท้องถนนมากขึ้น

แนวโน้มที่หก การเพิ่มขึ้นของกรีนโปรดักส์ในท้องตลาดที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ประกอบการกรีนโปรดักส์ และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภคที่เป็นกรีน ชอปปิ้ง ซึ่งการกระจายตัวของตลาดจะทำให้ราคาต่อหน่วยของสินค้ากรีนโปรดักส์น่าจะลดลงตามลำดับ

แนวโน้มที่เจ็ด การพัฒนาแนวคิดเชิงระบบ (System Approach) ในการวิเคราะห์ผลกระทบของการผลิตต่อสภาพแวดล้อม เพื่อให้การวัดและประเมินผลกระทบได้อย่างแม่ยำมากขึ้น แต่เดิมประเด็นนี้มีการพิจารณาแต่เพียงในระดับของท้องที่ ด้วยการประเมินตัวผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และโรงงานผลิตว่ากระทบต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อมอย่างไร แต่ในปี 2012 มุมมองจะเปิดกว้างมากขึ้น ตั้งแต่การผลิต การจัดจำหน่ายสินค้า และการบริโภคตลอดวิถีทางทางการตลาดและกำลังจะขยายต่อไปในระดับภาคอุตสาหกรรมและระดับมหภาค ซึ่งเป็นการพิจารณาทั้งระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน และพิจารณาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก โดยการทำงานด้านการประเมินดังกล่าวจะใช้เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์มามีส่วนช่วยมากขึ้น เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงผลกระทบได้ทั้งระบบ

แนวโน้มที่แปด โลกจะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและประชากรที่เข้าไปใช้ประโยชน์หรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของประชากรในทุกมุมโลก หมายถึงจำนวนผู้บริโภคจะมีเพิ่มมากขึ้น มลภาวะมากขึ้น ซึ่งทำให้แนวโน้มและความจำเป็นในการใช้กรีนคอนเซปต์ต้องทำอย่างจริงจังมากขึ้น ประชากรของโลกเพิ่มขึ้นจนผ่านระดับ 6,000 ล้านคนเมื่อปี 2000 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 7,800 ล้านคนในปี 2020 การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของประชากรออกไปตามการขยายตัวของครอบครัว ทำให้สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขยายตามออกไปด้วย

แนวโน้มที่เก้า ความก้าวหน้าและใช้ชีวิตอยู่บนเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร ทำให้การติดต่อสื่อสารถึงกันทำได้ผ่านระบบรีโมต และทางไกล ไม่ต้องการการเดินทางไปพบกันแบบเผชิญหน้า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือการเคลื่อนที่ทางกายภาพจึงมีแนวโน้มที่จะลดลง รวมไปถึงการทำงานจากที่พักอาศัยแทนการออกไปตั้งต้นงานที่สำนักงานหรือในออฟฟิศที่ห่างไกล การพัฒนาการแบบนี้ สนับสนุนแนวคิดของกรีนคอมเซปต์โดยไม่ตั้งใจ แต่เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

แนวโน้มที่สิบ อาคารบนแนวคิดกรีนจะเพิ่มขึ้น จากการที่สถาปัตย์และนักออกแบบอาคารได้คำนึงถึงรูปแบบการทำงานของอาคารที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนมากขึ้น อาคารสมัยใหม่จึงพิจารณาการบริหารจัดการความอบอุ่นหรือความร้อนภายในอาคาร การลดการใช้ไฟฟ้าในการให้แสงสว่างแต่ให้อาคารมีแสงสว่างที่เพียงพอเอง และใช้ระบบการบริหารจัดการน้ำแบบใช้หมุนเวียนซ้ำ การพัฒนาในเรื่องอาคารนี้ได้ขยายวงออกไปเป็นเรื่องของ กรีนซิตี้ หรือ อีโค ซิตี้ ไม่ใช่เพียงระดับของหมู่บ้านหรือชุมชนเท่านั้น เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อการวางผังและการปรับปรุงผังเมืองใหม่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การกำหนดพื้นที่สีเขียวเป็นภาคบังคับ การจัดพื้นที่ที่รองรับอากาศบริสุทธิ์ในชุมชน เป็นที่คาดหมายกันว่า กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับอาคารแบบกรีนนี้จะเริ่มนำออกมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้อาคารสร้างใหม่ต้องพัฒนาระบบพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานโซลาร์ รวมทั้งพลังงานลม

อ้างอิง : สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2555. จากเว็บไซต์ http://www.ksmecare.com/news_popup.aspx?ID=7963 เขียนโดย : เรวัติ ตันตยานนท์

http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?NewsID=9550000016589





ไม่มีความคิดเห็น: