การพัฒนาองค์การไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน
แนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์การ (Organizational Development)
1. ความจำเป็นของการจะต้องมีปรับปรุงหรือพัฒนาองค์การ (Need for Improvement)
1.) ตัวเร่งทางธุรกิจของการพัฒนาองค์การ ได้แก่ ผู้บริโภคหรือลูกค้า (Customers) ซึ่งมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน เมื่อลูกค้าพร้อมจะจ่ายเมื่อเขาต้องการบริการหรือผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ผู้บริหารและผู้นำองค์การต้องคิดว่าธุรกิจของตนยังสามารถให้บริการที่ตรงกับ ความต้องการที่ลูกค้าปรารถนาได้หรือไม่ มิฉะนั้น ก็ต้องแก้ไขหรือปรับปรุงองค์การของตน
2) สภาวะการณ์ที่มีคู่แข่งหรือมีการแข่งขันเกิดขึ้น กลวิธีในการดำเนินธุรกิจที่ดีและใหม่กว่า ย่อมถูกนำมาใช้ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค องค์กรธุรกิจควรปรับเปลี่ยนวิธีการของตนให้พร้อมรับกับเหตุการณ์ และสามารถแข่งขันได้ทุกเมื่อ
3) เหตุการณ์ในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมของผู้บริโภค เทคโนโลยีหรือรูปแบบของการสื่อสารซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี่สารสนเทศ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี่สื่อสารโทรคมนาคม รวมไปถึงเทคโนโลยี่การผลิตและปฏิบัติการ (Production and Operations Technology) และเทคโนโลยี่การบริหารงาน (Management Technology) และสภาวะของโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่กำลังไปสู่ยุคสังคมฐานความรู้ (Knowledge-based Society) ทำให้ผู้นำขององค์การต้องใช้แนวคิด หลักการและวิธีการในการบริหารจัดการที่จะสามารถนำมาซึ่งประสิทธิภาพและ ประสิทธิผลสูงสุด การพัฒนาและปรับปรุงประเด็นต่างๆ เหล่านี้มักจะมีผลเชื่อมโยงถึงกันอย่างใกล้ชิดและฉับพลัน และมีผลทำให้มุมมองของผู้บริหารและผู้นำในการจัดการองค์การต้องเปลี่ยนแปลง ตามไปด้วย
2. กระบวนการเปลี่ยนแปลงขององค์การ
การพัฒนาองค์การ ถือว่าเป็นโครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพนักงานและองค์การซึ่งอาจจะ ส่งผลกระทบต่ออนาคตขององค์การ และสภาพแวดล้อมภายนอก เนื่องจากการพัฒนาองค์การ จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านของผู้ถูกกระทำและ ผู้แสดงปฏิกิริยาตอบสนองรวมถึงผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบสังคม
การเปลี่ยนแปลงองค์การ (Organization Change) เป็นกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์การ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์การหรือพยายามปรับ องค์การให้ก้าวหน้า โดยอาศัยการวิเคราะห์ปัญหา การวางแผนและการจัดการสร้างวัฒนธรรมองค์การอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์การจะใช้เทคนิคทางพฤติกรรมศาสตร์ สังคมวิทยา และการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์การ ในทิศทางที่ต้องการและระดับที่เหมาะสม
องค์การในยุคโลกาภิวัตน์กำลังแสวงหาประสิทธิภาพของงานและความมีอิสระของ มนุษย์เพิ่มด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับงานระหว่างกัน มีบรรยากาศของการไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น กล้าเสี่ยงในการทำงาน และมีความรู้สึกมั่นใจในอันที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จของงานอย่างมี ประสิทธิภาพในกระบวนการเปลี่ยนแปลงขององค์การอาจจะพบกับการเสี่ยง ความไม่มั่นคง การท้าทาย ความกลัวการสูญเสีย เพื่อจะเผชิญกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจำเป็นจะต้องมีความรู้ ทักษะ ค่านิยมและต้องรู้สิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างมีแผนในกระบวนการเปลี่ยนแปลง หรือระบบของการพัฒนาองค์การ และอย่างน้อยต้องคำนึงถึงหลักทั่วๆ ไป 5 ประการ ดังต่อไปนี้
• การเพิ่มพูนความรู้ ความคิด ประสบการณ์ อันจะเป็นประโยชน์แก่การทำงานร่วมกัน
• ทักษะ: แนวทางใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมในทางปฏิบัติงานร่วมกัน
• ทัศนคติ: ยอมรับความรู้สึกใหม่ๆ อันจะมีส่วนร่วมให้งานระหว่างบุคคลสำเร็จ
• ค่านิยม: การยอมรับค่านิยม ความเชื่อ ข้อมูล ร่วมกับบุคคลอื่นๆ ในองค์การ
• ยุทธศาสตร์และการบริหารเชิงกลยุทธ์
นอกจากนั้น ยังมีคำถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาองค์การด้านอื่นๆ อีก เช่น ใครจะเป็นผู้บริหารเปลี่ยนแปลง การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนบรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร
ผู้บริหารได้ค้นพบว่า การพัฒนาองค์การจะเกี่ยวข้องกับระบบองค์การทั้งหมดและเกี่ยวข้องกับความ พยายามในการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแบบแผนทั่วทั้งองค์การ เพื่อต่อสู้กับสภาพปัญหาต่างๆ ขององค์การผู้บริหารจะไม่สามารถแก้ปัญหาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งขององค์การ จำเป็นต้องกำหนดเป็นแผนระยะยาว และต้องมีกลยุทธ์ในการพัฒนาบรรยากาศขององค์การ
ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงจะมีความไว หรือ ความเร็ว (Rapidly Change) เข้ามาเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผลการปฏิวัติระบบเทคโลโลยีสารสนเทศ การสื่อสารไร้พรมแดน และโทรคมนาคม การเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เทคโนโลยี ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ มีการไหลจากแหล่งที่มีความมั่งคั่ง เจริญงอกงาม หรือแหล่งที่มีความแข็งแกร่งของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า หรือประเทศร่ำรวย ไปสู่ประเทศด้อยพัฒนา โดยถือว่าเป็นการจำยอมที่จะต้องเปลี่ยนแปลงและรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่หากสถานภาพการพัฒนาคน การศึกษา สังคม และการเศรษฐกิจไม่ก้าวหน้าหรือตามไม่ทัน ย่อมทำให้ช่องว่างระหว่างความร่ำรวยกับความยากจนเพิ่มสูงมากขึ้น รวมทั้งปัญหาทางสังคมก็จะเกิดขึ้นมากตามมาด้วย
3. แนวคิดและทฤษฎีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการองค์การ
แนวคิดและทฤษฎีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการองค์การ ที่สำคัญๆ พอสรุปได้ดังนี้
1) แนวคิดที่เน้นกระบวนการพัฒนาองค์การให้กลับสู่สภาพใหม่ที่เหมือนเดิมหรือดี กว่าเดิม โดยมุ่งความกล้าไปที่การยอมรับการเปลี่ยนแปลง การริเริ่มวิธีการหรือกระบวนการที่เป็นการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จำ เป็น และการใช้เครื่องมือในการแทรกแซง (Intervention) เพื่อให้องค์การมีความแข็งแกร่ง มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา และเพิ่มพูนทักษะในการสร้างสภาวะใหม่ให้กับองค์การ แม็กกิลล์ (McGill, 1977) ได้กล่าวว่า การพัฒนาองค์การหมายถึง กระบวนการวางแผนที่มุ่งจะพัฒนาความสามารถขององค์การเพื่อให้สามารถที่จะ บรรลุและธำรงไว้ซึ่งระดับการปฏิบัติงานที่พอใจที่สุด โดยสามารถวัดได้ในเชิงของประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความเจริญเติบโตขององค์การ
2) แนวคิดที่เน้นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์การ เป็นความพยายามที่จะทำให้เกิดมีการปรับปรุงองค์การในทั้งสองระบบ กล่าวคือ ระบบที่ไม่เป็นทางการที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ ทัศนคติ ความรู้สึกค่านิยม ความเชื่อ การปฏิสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ และบรรทัดฐานของกลุ่มหรือองค์กร ส่วนลักษณะที่เป็นทางการจะเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดที่มีการประกาศอย่างเป็นทาง การและเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ โครงสร้าง นโยบาย แนวทางปฏิบัติ เทคโนโลยี ผลผลิต และทรัพยากรต่างๆ ขององค์กร การปรับปรุงองค์การตามแนวทางนี้มุ่งเน้นที่วัฒนธรรมและค่านิยมต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการปรับปรุงองค์การอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ระบบ ตำแหน่ง สิทธิ และสวัสดิการดังที่เราเห็นในการปรับปรุงองค์การโดยทั่วไปเท่านั้น เบนนิส (Bennis, 1969) ศาสตราจารย์ทางด้านวิทยาการจัดการด้านจิตวิทยาและทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ได้ กล่าวว่า การพัฒนาองค์การหมายถึงการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นยุทธศาสตร์ของการศึกษาที่สลับซับซ้อน ที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และโครงสร้างขององค์การ เพื่อทำให้องค์การสามารถปรับตัวได้อย่างสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยน แปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น วิทยาการ เทคโนโลยีสมัยใหม่ การตลาด และสิ่งท้าทายใหม่ๆ และเบคฮาร์ด (Beckhard, 1969) นักวิชาการชาวสหรัฐอเมริกา ก็ได้กล่าวว่าการพัฒนา องค์การ คือ “ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผน ที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งระบบ เช่น การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ค่านิยม หรือระบบการให้ค่าตอบแทน เป็นต้น โดยเริ่มจากฝ่ายบริหารระดับสูงลงมาเพื่อเพิ่มความมีประสิทธิภาพและความเจริญ เติบโตขององค์การ” โดยเขาเน้นให้เห็นว่า การพัฒนาองค์การนั้นแตกต่างจากการพัฒนาการบริหาร และการฝึกอบรม
3) แนวคิดที่เน้นกระบวนการปรับปรุงประสิทธิผลขององค์กร โดยอาศัยการวิจัยเชิงแก้ ปัญหาเป็นแม่แบบซึ่งมีลักษณะเป็นกระบวนการแก้ปัญหาอย่างมีระบบเชิงวิทยา ศาสตร์ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
• การวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นขององค์กร
• การเก็บรวบรวมข้อมูลจากองค์กร
• การป้อนข้อมูลย้อนกลับให้กับองค์กร
• สำรวจปัญหาขององค์กรจากข้อมูลที่ได้รับทั้งหมด
• วางแผนปฏิบัติการ ติดตาม ควบคุมและประเมินผลการปฏิบัติการนั้นๆ และ
• ลงมือปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาตามแผนงานที่กำหนดไว้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น