หน้าเว็บ

thunyalak khampang


แนวทางการพัฒนาประเทศไทยกับเศรษฐกิจสีเขียว
เศรษฐกิจสีเขียวเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ที่รัฐบาลทั่วโลกพยายามพลักดัน ผสานควบคู่ไป
กับการ พัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุลตาม
หลักการของความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ ประมง เกษตร การพัฒนาอุตสาหกรรม การใช้
พลังงาน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน องค์การสิ่งแวดล้อมแห่ง
สหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ หันมาลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อสร้างระบบ “เศรษฐกิจสีเขียว”
(Green Economy) เป็นกลไกในการผลักดันเศรษฐกิจของโลกให้พัฒนาไปยังทิศทางสีเขียวและยั่งยืน โดยเชื่อมั่น
ว่าเศรษฐกิจสีเขียวจะสามารถสร้างงาน การออมเงิน และปกป้องผู้ด้อยโอกาสซึ่งต้องลดปัญหาความยากจนภายใน
พ.ศ.๒๕๕๘ รวมทั้งลดคาร์บอนและลดการทำลายสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเช่นกัน
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ กับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ ประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์หลัก
ได้แก่ ๑. สร้างความเป็นธรรม ๒. พัฒนาคนสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีพ ๓. สร้างความมั่นคงทางอาหารและ
พลังงาน ๔. ส่งเสริมภาคธุรกิจให้เข้มแข็งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน ๕. เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับ
เพื่อนบ้าน ภูมิภาคและโลก และ ๖. บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๖
ส่งเสริมแบบแผนการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นสู่การปรับโครงสร้าง
เศรษฐกิจสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” เช่น
• การปรับตัวของอุตสาหกรรมสู่การผลิตแบบ Green/Low Carbon และใช้พลังงานทดแทน
• การบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการบริการด้านสุขภาพ
• การฟื้นฟู ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม
• การใช้ประโยชน์จากมาตรการสร้างรายได้จากการอนุรักษ์ : REDD, PES, Biodiversity offsets
• การปรับโครงสร้างภาคเกษตรไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน
• การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานและขนส่งไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้
พลังงาน
• การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตและ การใช้ประโยชน์จาก CDM
• การใช้ประโยชน์จากการเป็นภาคีในประชาคมอาเซียน
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เศรษฐกิจสีเขียว
ปรัชญาเศรษฐกิจสอดคล้องกับปรัชญาของพุทธศาสนาในประเด็นการยึดหลักทางสายกลางในการดำเนิน
ชีวิต ทั้งระดับปัจเจกชน ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับภาครัฐ อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลัก พุทธ
เศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) และเศรษฐศาสตร์แบคานธี (Gandhian Economics) ที่เน้นการอยู่พอดี
กินพอดี และการพึ่งตนเอง นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นพัฒนาไปสู่ “ความยั่งยืน” ทุกมิติทางสังคม ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง
และสังคม โดยยึดหลักของความสมดุลและดุลยภาพของมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มีผลประโยชน์
ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และตั้งอยู่บนหลักของศีลธรรม คุณธรรม ธรรมาภิบาล กับเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง เมื่อ
วิเคราะห์และเปรียบเทียบหลักทฤษฎีในสังคมต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในท่ามกลางวิกฤตโลก อย่างเช่น เศรษฐกิจสีเขียว
แล้ว ที่ยึดหลักไม่เบียดเบียนโลก ไม่บริโภคเกินความจำเป็น กับการไม่สร้างความเสี่ยงเกินกำลัง ซึ่งเป็นหลักการ
คล้ายคลึงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งเน้นความพอประมาณ สมเหตุสมผล ไม่ทำเกินตัว กินพอดี อยู่พอดี ไม่
เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมถึงไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม
ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว
ผลิตภัณฑ์สีเขียว คือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่
กระบวนการผลิต จนถึงบรรจุหีบห่อถึงมือผู้บริโภค การผลิตสินค้าที่ไม่มากเกินความต้องการผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์
สามารถกลับนำมาใช้ได้ใหม่ ไม่เปลืองพลังงาน กลับมาเพิ่มหรือเติมพลังงานได้ใหม่ ตลอดจนไม่ทารุณสัตว์(การใช้
สัตว์ทดลอง) หรือการนำสัตว์สงวนมาผลิตเป็นสินค้า เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สรุปแล้วผลิตภัณฑ์สีเขียว ต้องมี
องค์ประกอบหลัก 4R คือ การลดของเสีย (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำมาปรับใช้ใหม่ (Recycle) และการ
ซ่อมบำรุง (Repair)
กลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการคัดเลือกสามารถขอรับรองเครื่องฉลากเขียว จำนวน ๓๕ รายการ ได้แก่
ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทำจากพลาสติกที่ใช้แล้ว หลอดฟลูออเรสเซนต์ ตู้เย็น สี เครื่องสุขภัณฑ์ ถ่านไฟฉาย
เครื่องปรับอากาศ กระดาษ สเปรย์ สารซักฟอก ก๊อกน้ำและอุปกรณ์ประหยัดน้ำ คอมพิวเตอร์ เครื่องซักผ้า ฉนวน
กันความร้อน ฉนวนยางกันความร้อน มอเตอร์ ผลิตภัณฑ์ทำจากผ้า บริการซักน้ำและซักแห้ง แชมพู ผลิตภัณฑ์ทำ
ความสะอาดถ้วยชาม น้ำมันหล่อลื่น เครื่องเรือนเหล็ก ผลิตภัณฑที่ทำจากไม้ยางพารา บัลลาสต์อิเล็กตรอน สบู่
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นผิว ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด เครื่องถ่ายเอกสาร สถานีน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องเขียน ตลับ
หมึก ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ สีเคลือบกระเบื้องมุงหลังคา โทรศัพท์มือถือ เครื่องโทรสาร
รายละเอียดการสมัครขอใช้ฉลากเขียวติดต่อที่ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โทรศัพท์ ๐-๒๕๐๓-๓๓๓๓ โทรสาร ๐-๒๕๐๔-๔๘๒๖-๘ อีเมล info@tei.or.th เว็บไซต์ www.tei.or.th หรือข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://siweb.dss.go.th ขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ info@dss.go.th
---------------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง
๑. ธัญจวน ทวีวัฒน์, วารสารเส้นทางสีเขียว ฉบับที่ ๒๗ : เส้นทางสู่เศรษฐกิจสีเขียว, ปรัชญา-แนวคิด
ทางเศรษฐกิจในวิกฤตสิ่งแวดล้อม หน้า ๒๒ - ๓๑
๒. สันทนา อมรไชย, วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ ปีที่ ๕๗ ฉบับที่ ๑๗๙ มกราคม ๒๕๕๒,
ผลิตภัณฑ์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน หน้า ๒๙ – ๓๖
๓.นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ และนายธานินทร์ ผะเอม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ, เอกสารบรรยายสำหรับหลักสูตรนักบริหารระดับสูง กระทรวงอุตสาหกรรม รุ่นที่ ๑๐,
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑-๑๑
๔. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เอกสารการประชุมระดมความเห็น
ศิษย์เก่า สศช. วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒, กรอบแนวคิดของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙)
๕. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ ๒,๕๖๙ ๒๖-๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓, ทิศทางเศรษฐกิจไทย
ก้าวอย่างไรในอนาคต__

ไม่มีความคิดเห็น: