น.ส.วิไลพร ส่งเสริม เอกการจัดการทั่วไป รหัส 5210125401043
การแข่งขันในตลาดโลกและการปรับตัวเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
การจัดการตลาดระหว่างประเทศ (International marketing management) เป็นการวิเคราะห์ (Analysis) การวางแผน (Planning) การปฏิบัติตามแผน (Implementation) และการควบคุม (Control) โปรแกรมในการออกแบบ (Designed) การสร้างสรรค์ (Create) การสร้าง (Build) และการเก็บรักษา (Maintain) เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้ซื้อในตลาดต่างประเทศที่เป็นเป้าหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ
การจัดการการตลาดระหว่างประเทศ สามารถพิจารณาทางด้านสภาพแวดล้อมได้ 2 ลักษณะ คือ (1) การแข่งขันในระดับโลก โดยคู่แข่งขันที่มาจากทั่วโลกจะมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน (2) สภาพแวดล้อมระดับโลก จะเกี่ยวข้องกับความหลากหลายในปัจจุบันทางด้านรัฐบาล วัฒนธรรมและระดับรายได้
นอกจากนี้การจัดการการตลาดระหว่างประเทศ ต้องใช้ผู้บริหารด้านการตลาดที่มีขีดความสามารถมากกว่าการตลาดภายในประเทศ ซึ่งสิ่งที่ผู้บริหารด้านการตลาดให้ความสำคัญมากที่สุด 6 ประการ มีดังนี้ (1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (2) การพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้ขายปัจจัยการผลิต ผู้จัดจำหน่าย ตลอดจนผู้ซื้อ (3) การมีคู่แข่งขันระดับโลกน้อยรายแต่มีความแข็งแกร่งมาก (4) มีแรงกระตุ้นให้มีการแข่งขันด้านราคา (5) การรวมตัวกันในระดับภูมิภาค และมีกฎระเบียบของรัฐบาลมากขึ้น (6) การพัฒนาวัฒนธรรมทางการตลาด
กลยุทธ์ในการแข่งขันระหว่างประเทศ (International Competitive Strategy)
ธุรกิจระหว่างประเทศกับธุรกิจที่มีสาขาในหลายๆ ประเทศเป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง ธุรกิจระหว่างประเทศจะมีการพัฒนากลยุทธ์ให้เข้ากับเป้าหมายที่ได้กำหนดเอาไว้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากตลาดใหม่ ในขณะที่บริษัทที่มีสาขาอยู่ในหลายประเทศก็มีแนวโน้มที่จะจัดการกับตลาดในแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี แต่จะมีปัญหาตรงที่ไม่สามารถประสานงานในส่วนของกลยุทธ์ที่ใช้ในแต่ละตลาดให้กลายเป็นกลยุทธ์ที่เป็นมาตรฐานอันเดียวกันได้
ธุรกิจระหว่างประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าในด้านของการพัฒนากลยุทธ์ เพื่อช่วยในการบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะวางยุทธศาสตร์ในเรื่องของแหล่งวัตถุดิบและส่วนประกอบในประเทศต่างๆ โดยเลือกที่ตั้งที่มีความเป็นไปได้ในการเป็นศูนย์กลางของแหล่งวัตถุดิบและการกระจายสินค้า โดยใช้ระบบลอจิสติกส์สำหรับการหาและการจัดจำหน่ายสินค้าชนิดใหม่ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีในการหาตลาดใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขอันหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการประสบความสำเร็จ ก็คือ การได้มาซึ่งมูลค่าของธุรกิจ สิ่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการพิสูจน์ถึงการเข้ามาในตลาดและการแนะนำสินค้าชนิดใหม่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างกิจกรรมของธุรกิจที่จะดูดซับค่าใช้จ่ายทางด้านต้นทุนที่จำเป็นต่อกิจกรรมด้วย
ธุรกิจที่เป็นสากลโดยทั่วไปแล้วจะมีการวางรูปแบบกลยุทธ์การบริหารโดยอยู่ภายใต้ปัจจัย 4 ตัวคือ เทคโนโลยี การตลาด การผลิต และลอจิสติกส์ ซึ่งปัจจัยทั้งสี่จะทำหน้าที่สอดคล้องกัน และมีลอจิสกติกส์เป็นตัวหลักในการทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ผลิตต่างยอมรับว่าในตัวระบบลอจิสติกส์เองนั้น สามารถที่จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้เกิดขึ้นได้
อ้างอิงจาก ผศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การบริหารจัดการธุรกิจสีเขียวและการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต
ปัญหาโลกร้อนเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทำให้เกิดวิกฤตทางสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมา และปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามนุษย์คือต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น หนึ่งในผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน คือ อุตสาหกรรมที่มนุษย์เป็นเจ้าขององค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะปล่อยควันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทิ้งน้ำเสียลงทะเล ใช้วัตถุดิบหรือสารเคมีที่ทำลายสภาพแวดล้อม โดยไม่สนใจและใส่ใจกับผลกระทบที่ตามมา ซึ่งสุดท้ายแล้วผลกระทบก็จะตกไปที่อุตสาหกรรมเช่นกัน เช่น ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชุมชน ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจตามมาด้วย
"ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะภาคธุรกิจเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรม การมองแบบองค์รวม คือ การพัฒนาในเรื่องของผลิตภัณฑ์และเรื่องของกระบวนการให้สอดรับกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างแรงจูงใจการดำเนินธุรกิจย่อมต้องอาศัยการเติบโตกิจการด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากเราจะดูการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน ซึ่งส่วนมากจะมีการกล่าวถึงเรื่องของ green (สิ่งแวดล้อม) และ growth (การเติบโต) ไปพร้อม ๆ กัน แต่ไม่ใช่เสียสละทรัพยากรบางส่วนในธุรกิจเพื่อได้มาซึ่งการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่จะต้องหาวิธีการที่ธุรกิจได้นำศักยภาพเชิงเศรษฐนิเวศหรือเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดการเติบโตด้วยต่อไปนี้การพัฒนาเศรษฐกิจจะถูกแวดล้อมด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการวัสดุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพหรือระบบนิเวศ ในการหาตัวแบบและวิธีการให้เติบโตไปพร้อมกับการยอมรับของสังคมและกิจกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับ Green Ocean Strategy หรือกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียวนี้ เน้นการพัฒนา สิ่งแวดล้อม ซึ่งจำแนกได้ 2 เรื่อง คือ เรื่องการจัดการทรัพยากรบุคคลและเรื่องการจัดการระบบ ทั้งกระบวนการนำเข้าและกระบวนการส่งออก ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยเน้นการเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงทิศทางความต้องการของผู้บริโภค"การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development เป็นกรอบใหญ่สุดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่วน CSR เปรียบเสมือนกลไกในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรอย่างยั่งยืน ดังนั้นเราจะเห็นว่าในแต่ละองค์กร จะมีกลยุทธ์ได้หลายกลยุทธ์ ซึ่ง Green Ocean เป็นส่วนหนึ่งในการทำ CSR เช่นกัน"
แนวคิดหลักในการจัดการทรัพยากรบุคคลนั้นจะต้องปลูกฝัง 7Rs พื้นฐานก่อน คือ 1) Rethink 2) Reduce 3) Reused 4) Recycle 5) Refuse คือ การปฏิเสธทรัพยากรหรือวัตถุดิบในการผลิต ที่อาจจะไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) Recondition ซึ่งรวมกันระหว่าง repair คือ การซ่อมแซมและ replace ส่วนสุดท้าย อันดับที่ 7) Return คือ การได้มาซึ่งผลตอบแทนทั้งองค์กรและกิจการ ที่สำคัญคือการตอบแทนสู่สังคม ด้านการนำไปปรับใช้ในองค์กรธุรกิจ มีหลายธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและได้รับการยอมรับในฐานะองค์กรต้นแบบว่าเป็นธุรกิจสีเขียว อาทิ บมจ.บางจากปิโตรเลียม บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย และ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท
จากเว็บไซต์ http://greenoceanstrategy.blogspot.com/2010/12/green-ocean-strategy-3.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น