นางสาวสายพิณ สิงห์ใจ 5130125401248
บทที่ 6 การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และ
วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อการบริหารจัดการ
ประเทศไทยกำลังเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ
AEC ในปี 2558
หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ดูเหมือนว่าบรรยากาศความตื่นตัวในสังคมไทยเกี่ยวกับ AEC
ยังมีอยู่น้อยมาก การพยายามทำความเข้าใจถึงผลกระทบของ AEC และการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC ยังจำกัดอยู่เฉพาะผู้ประกอบการเพียงบางกลุ่มเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา
ผมได้รับเชิญไปร่วมเสวนาในงาน “ การสร้างองค์กรแห่งความสุขHappy
Workplace ในยุค 3.0” ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผมได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในภาพกว้างในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์
ซึ่งผมจะขอแบ่งปันความเห็นของผมที่ได้นำเสนอในงานดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน
โดยในบทความตอนแรกนี้เป็นเรื่องจุดอ่อนและจุดแข็งของไทยในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC จุดแข็งของประเทศไทย
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอื่นของ AEC ผมเห็นว่า
ประเทศไทยมีความได้เปรียบในหลายประเด็น
ซึ่งจุดแข็งเหล่านี้ทำให้ไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
การค้าและการลงทุนของ AEC
1) ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
ประเทศไทยตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาคและมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุดในภูมิภาค
นอกจากนี้ที่ตั้งของประเทศไทยยังมีความเสี่ยงภัยธรรมชาติค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านหลายประเทศ
แม้ปีที่ผ่านมาไทยต้องเผชิญวิกฤตน้ำท่วมใหญ่
แต่เป็นภัยพิบัติที่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้และสามารถเตรียมการป้องกันได้
2) ระดับการพัฒนาประเทศ
ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาประเทศสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน
ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
แรงงานมีฝีมือและบุคลากรระดับสูงมีจำนวนมากพอสมควร
ประเทศไทยยังมีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพและทั่วถึง โครงสร้างพื้นฐานได้รับการพัฒนาค่อนข้างมากโดยเฉพาะถนน
ขณะที่สถาบัน กฎระเบียบ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มีการพัฒนามากพอสมควร
นอกจากนี้เงินบาทได้รับการยอมรับจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การค้าชายแดนสามารถซื้อขายเป็นเงินบาทได้
3) ขนาดของประเทศและตลาด
เศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย ไทยยังมีประชากรจำนวนมาก
ใกล้เคียงกับจำนวนประชากรของเมียนมาร์และเวียดนาม
แต่คนไทยมีระดับรายได้และมีกำลังซื้อสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ไทยมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาและรองรับการลงทุนในภาคการผลิต
แตกต่างจากสิงคโปร์ที่มีพื้นที่จำกัด
4) ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียน
ไทยมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากับอาเซียน 7.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553
หรือร้อยละ 15 ของมูลค่าการค้าภายในอาเซียนทั้งหมด นับเป็นอันดับ 3
รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย นอกจากนี้ไทยยังเกินดุลการค้าต่ออาเซียน 1.36
หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ และเป็นเพียง 1 ใน 3
ประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลต่ออาเซียน ซึ่งสะท้อนว่าไทยน่าจะรับประโยชน์จาก AEC โดยเฉพาะในแง่การขยายการส่งออกไปยังอาเซียน
5) ความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศสูงมาก
ระดับการเปิดประเทศ degree
of openness ของไทยสูงถึงร้อยละ 129 ของจีดีพีในปี 2548
การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมาโดยตลอด
ไทยจึงมีความพร้อมและประสบการณ์ในการทำการค้าและดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ
ซึ่งหมายความว่า การเข้าเป็น AEC จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนจากประเทศนอกกลุ่ม
AEC มากกว่าประเทศสมาชิก AEC ส่วนใหญ่
สำหรับจุดอ่อนของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก
AEC มีอยู่หลายประเด็นเช่นกัน
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่หรืออาจทำให้เราเสียโอกาสหรือได้รับผลกระทบจาก
AEC มากขึ้น
1) การขาดความเข้าใจและขาดความตระหนัก
ผลการสำรวจของหลายสถาบัน พบว่าสังคมไทยยังขาดความตื่นตัวเกี่ยวกับการเป็น AEC ประชาชนและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักถึงความสำคัญ
ผลกระทบ และความจำเป็นในการเตรียมความพร้อม
ยกเว้นผู้ประกอบการขนาดใหญ่หรือหน่วยงานที่ทำธุรกิจกับต่างประเทศอยู่แล้ว
การขาดความเข้าใจและความตระหนักอาจสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการไทย
ทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จาก AEC ทำให้เสียโอกาสหรือพลาดโอกาสที่กำลังจะเปิดออก
และทำให้ขาดการเตรียมความพร้อมและไม่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจาก AEC
ได้ทันเวลา
2) การไม่รู้จักเพื่อนบ้าน
นอกจากคนไทยจะไม่เก่งในการใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลแล้ว
คนไทยยังมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเพื่อนบ้านน้อยมาก
ระบบการศึกษาของไทยขาดทางเลือกในการเรียนรู้ ภาษา วัฒนธรรม
เศรษฐกิจเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่สิ่งอำนายความสะดวกต่างๆ
ไม่เอื้อต่อการติดต่อค้าขาย ลงทุน หรือท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
3)
ความไม่สะดวกบางด้านในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าจากการจัดอันดับ Doing Business ของธนาคารโลก
ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 17 จาก 183 ประเทศ (สิงค์โปรอยู่อันดับ 1
และมาเลเซียอันดับ 18) แต่หากพิจารณาดัชนีบางด้านพบว่ายังเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ
ได้แก่
“การเริ่มต้นธุรกิจ” ธุรกิจที่เข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจในไทย
ต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการจำนวนมาก มีขั้นตอนหลายขั้นตอน
และใช้เวลามากในแต่ละขั้นตอน
“การขอสินเชื่อ” ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ
โดยเฉพาะรายย่อย และต้นทุนทางการเงินของไทยยังค่อนข้างสูง
เพราะธุรกิจสถาบันการเงินของไทยยังมีลักษณะผูกขาดในระดับหนึ่ง
“การจัดเก็บภาษี” อัตราภาษีนิติบุคคลของไทยอยู่ที่ร้อยละ
30 สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลมีนโยบายลดภาษีนิติบุคคลน่าจะเป็นผลดีในการดึงดูดการลงทุน
4) ต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น
โดยเฉพาะอัตราค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยที่สูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนในโลกกำลังมองหาแหล่งลงทุนแหล่งใหม่ที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าจีน
การลงทุนในโลกจึงมีแนวโน้มไหลเข้าไปยังเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น เช่น อินโดนีเซีย
เมียนมาร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีสัดส่วนต้นทุนด้านพลังงานและต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์สูงมาก
ในภาวะที่ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น
ไทยจึงมีแนวโน้มสูญเสียความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ
5) ปัญหาทางการเมืองและการบริหาร
การพัฒนาของเศรษฐกิจไทยไปอย่างเชื่องช้าและต้องหยุดชะงักเป็นระยะๆ
เนื่องจากมีอุปสรรคจากปัญหาทางการเมืองและการบริหาร เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
ทั้งการปฏิวัติและการชุมนุมประท้วง
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนแฝงสูงมาก
ตลอดจนปัญหาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
จากการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศไทยเมื่อต้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ
AEC คำถามคือ
ประเทศไทยได้เตรียมการรับมือกับการเข้าเป็น AEC แล้วหรือไม่
คำตอบคือ
ดูเหมือนว่าประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ของประเทศในเวทีอาเซียนไว้ชัดเจนนัก
ทิศทางในอนาคตจึงเป็นไปตามแรงผลักของสถานการณ์
แต่ไม่ได้เกิดจากการวางแผนหรือเตรียมการล่วงหน้า
ขณะที่มาตรการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็น AEC ไม่เห็นเป็นรูปธรรม
สถานการณ์เช่นนี้จึงน่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย
คำถามต่อมา ประเทศไทยควรกำหนดยุทธศาสตร์ในการรับมือกับ AEC อย่างไร สำหรับคำตอบของคำถามนี้
ผมจะขออธิบายในบทความตอนต่อไป
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส
ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น