หน้าเว็บ

น.ส.กันตินันท์ บุญลิลา รหัส 235 รุ่น 19


 ( ขอเพิ่มเติมค่ะ)
บทที่ 11 การบริหารจัดการธุรกิจสีเขียวและการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต

2-3 ปีมานี้ เราได้เห็นและได้ยินคำว่า “องค์กรสีขาว” หรือ “โรงเรียนสีขาว” กันหนาตาหนาหู ซึ่งทุกท่านคงทราบถึงนัยสำคัญของคำว่า “สีขาว” ดี นั่นก็คือ ปราศจากยาเสพติดนั่นเอง สีขาวเป็นสีของความพิสุทธิ์จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความผุดผ่องไม่มัวหมองด้วยสารเสพติดทั้งหลายทั้งปวง


แต่คำว่า “องค์กรสีเขียว” “ธุรกิจสีเขียว” (Green Business) หรือ “โรงเรียนสีเขียว” นี้ คงไม่ค่อยได้ยินบ่อยสักเท่าไร แต่เราจะได้ยินคำว่า “พื้นที่สีเขียว” มากกว่า โดยหมายถึงพื้นที่ที่เขียวชอุ่มด้วยพันธุ์ไม้ แต่คำว่าองค์กรสีเขียวหรือธุรกิจสีเขียวนี้ มีความหมายอย่างอื่นค่ะ และแน่นอน! ไม่ได้หมายความว่าองค์กรนั้นๆ ทำธุรกิจขายสีซึ่งเป็นสีเขียว หรือทำธุรกิจขายต้นไม้พันธุ์ไม้
ความหมายของ ‘Green Business’
“ธุรกิจสีเขียว” หมายถึง องค์กรที่ประกอบธุรกรรมโดยมีปณิธานในการทำงานที่มุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายของโลกมนุษย์ อาทิ อากาศ ต้นน้ำ ลำธาร ป่าไม้ สัตว์ป่า พืชพันธุ์ธัญญาหาร แมลง ฯลฯ มีชีวิตอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศวิทยาที่ดีที่สุดและอย่างยั่งยืนที่สุด
การดำเนินธุรกิจหรือแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา ล้วนมีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อยอยู่ทุกนาที แค่อยู่กับบ้านทำอาหาร อาบน้ำแต่งตัว เข้านอน ฯลฯ ก็ล้วนสามารถสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลา
ลองคิดดูง่ายๆ ก็ได้นะคะ เช่น ทอดไข่เจียวรับประทานกับข้าว เวลาล้างกระทะที่มีน้ำมันติดอยู่ คราบน้ำมันก็จะไหลผ่านท่อน้ำในอ่างส่งตรงไปยังท่อระบายน้ำรวมทันที โดยไม่มีระบบกรองหรือกักคราบน้ำมันใดๆ ทั้งสิ้น นี่ยังไม่คิดถึงน้ำยาล้างจานที่เป็นสารเคมีอีกนะคะ เวลาอาบน้ำแต่งตัวล่ะ? คราบสบู่ แชมพูสระผม สเปรย์ผม ก็ล้วนสร้างมลพิษให้น้ำและอากาศทั้งสิ้น เวลานอนรึ? อากาศร้อนก็ต้องเปิดแอร์ ซึ่งทำให้บรรยากาศของโลกร้อนขึ้นทุกวันเช่นกัน ทำยังไงได้? ก็มันร้อนนี่นา
เมื่อใช้ก็ต้องทดแทน เมื่อรับเอาก็ต้องรู้จักให้คืน
เราคงต้องยอมรับความจริงว่าการใช้ชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ ต้องใช้ทรัพยากรและทำลายทรัพยากรมากพอสมควร ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจบางอย่างก็มีผลในทางทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น ธุรกิจค้าไม้ ขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น ส่วนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางอ้อมนั้น คงไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างแล้วนะคะ
อย่างไรก็ตาม การเป็นองค์กรสีเขียวไม่ได้หมายความว่ากระดุกกระดิกทำอะไรไม่ได้เลย ห้ามใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยเด็ดขาด อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่การเป็นหรือพยายามเป็นองค์กรสีเขียวหมายความว่า มีนโยบายและกระบวนการในการประกอบธุรกิจที่พยายามใช้ หรือทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และหากเป็นไปได้ก็ต้องพยายามสร้างขึ้นทดแทน หรือพยายามบำบัดสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการตัดไม้มาใช้ ก็ต้องปลูกป่าทดแทน เป็นต้น หรือถ้าของบางอย่างมันสร้างทดแทนไม่ได้เช่น ถ้าขุดน้ำมันหรือถ่านหินมาใช้แล้ว ก็คงสร้างขึ้นมาคืนสู่ธรรมชาติไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีขุดเจาะน้ำมันหรือถ่านหินที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด รวมทั้งมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากน้ำมัน หรือถ่านหินให้ได้สูงสุด และมีกากของทรัพยากรเหลือทิ้งน้อยที่สุด
สรุปก็คือว่า การประกอบธุรกิจสีเขียวคือ การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโลก เพราะโลกเรานี้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ อย่าแก้ปัญหาอย่างมักง่าย แค่ให้พ้นๆ ตัว แต่มันไม่พ้นจากโลกนี้ แล้วก็จะกลับย้อนมาหาตัวต้นตอในที่สุด หนีไม่พ้นหรอกค่ะ ยกตัวอย่าง (อีกแล้ว) เช่น การที่ประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศ มีกากขยะนิวเคลียร์อันเป็นสารพิษมีอันตรายร้ายแรง ความที่รัฐบาลของประเทศตนเองมีกฎหมายควบคุมการกำจัดสารพิษอย่างเคร่งครัด ดังนั้น จึงได้ลักลอบขนเอากากนิวเคลียร์ใส่เรือลอยในมหาสมุทร ซึ่งถือเป็นน่านน้ำสากลไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของคอยตรวจตราดูแล แล้วจู่ๆ วันหนึ่งเรือลำนั้นก็ลอยไปเกยหาดของประเทศใดประเทศหนึ่ง ที่กลายเป็นแพะโดยจำใจ และก็มีหลายกรณีเช่นกัน ที่บริษัทยักษ์ใหญ่บางบริษัททำการเจรจากับรัฐบาลที่เห็นแก่เงินของประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ เพื่อทิ้งกากขยะ กากสารพิษต่างๆ ซึ่งนับเป็นกรรมของประชาชนตาดำๆ ของประเทศนั้นไป
ระดับ ‘ความเขียว’ ของธุรกิจ
การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ หรือไร้ค่าใช้จ่าย ในทางตรงกันข้ามมันเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่ด้วยพอสมควร (หรืออาจแพงมาก ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ) จะอาศัยเพียงจิตสำนึกความรับผิดชอบเพียงปัจจัยเดียวไม่เพียงพอ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบเอาเสียเลย โลกของเราคงถล่มทลายแน่จากปัญหา Global Warming (ภาวะโลกร้อน) คงกลายเป็น Global Boiling (ภาวะโลกเดือดพล่าน) เป็นแน่
องค์กรแต่ละองค์กรสามารถเลือกวางนโยบายได้ว่า ตนเองมีความต้องการและความพร้อมที่จะ “เขียว” ขนาดไหน ซึ่งปัจจัยที่นำมาพิจารณาในการเลือกระดับความเขียว (หรือระดับความรับผิดชอบต่อทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มีดังนี้
ปัจจัยที่ 1 ระดับศีลธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบของเจ้าของบริษัทหรือ CEO
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดระดับความรับผิดชอบขององค์กรคือ ผู้นำระดับสูงสุดนั่นเอง ดังนั้น ค่านิยมและความเชื่อส่วนตัวของผู้นำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด อันมีผลกระทบต่อความเชื่อ ทัศนคติและพฤติกรรมของพนักงานทั้งองค์กร
ปัจจัยที่ 2 กฎหมายที่ควบคุมผู้ประกอบการ
ในแต่ละประเทศจะมีกฎข้อบังคับ ข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติต่างๆสำหรับธุรกิจแต่ละประเภทอยู่แล้ว เช่น ต้องมีการบำบัดน้ำเสียอย่างไร ต้องมีการดูแลเรื่องควันพิษอย่างไร ฯลฯ ซึ่งการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดนั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติขั้นต่ำที่สุดแล้ว เพราะถ้าไม่ทำตามก็ถือว่าผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามมีผู้ประกอบการหลายคนไม่สนใจข้อกฎหมาย โดยใช้วิธีหลบเลี่ยงหรือติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปิดปากไม่ให้เอาเรื่องก็มีถมไป มิฉะนั้นแม่น้ำแม่กลองของเราคงไม่เน่าจนปลาลอยตายเป็นแพให้เห็นอยู่บ่อยๆ หรอกนะคะ
ปัจจัยที่ 3 ทัศนคติของผู้บริโภคและสาธารณชน
ปัจจุบันนี้ชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ เริ่มมีหูตากว้างขวางและมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น อีกทั้งมีสื่อในรูปแบบต่างๆ ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้เรา ดังนั้น เมื่อมีผู้เดือดร้อน เช่น เหม็นกลิ่นควัน น้ำเน่า คันตามตัวเพราะพิษจากสารเคมี ฯลฯ จึงสามารถร้องเรียนเรียกค่าเสียหายได้ หรือแม้กระทั่งธุรกิจนั้นยังไม่เปิดกิจการ แต่สาธารณชนมีความกังวลห่วงใยว่า จะสร้างผลกระทบทางลบต่อสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของพวกเขา สาธารณชนก็สามารถทักท้วงหรือประท้วงต่อต้านจนธุรกิจล้มก็ยังไหว
ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องใคร่ครวญปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ให้ดีว่า บริษัทของตนเองควรจะมีความเขียวในระดับใดจึงจะเหมาะสมกับเงื่อนไขต่างๆ นี้










ไม่มีความคิดเห็น: