หน้าเว็บ

นางสาว วณิดา สามทอง สาขาเอกการจัดการทั่วไป รหัส 5210125401065





การปรากฏขององค์การแห่งการเรียนรู้



องค์การแห่งการเรียนรู้ เป็นกระบวนการบริหารจัดการเพื่อขยายขีดความสามารถและเพิ่มศักยภาพ ในการสร้างผลงานสร้างอนาคต ตลอดจนความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยผู้คนในองค์การต่างก็ต้องเรียนรู้ วิธีที่จะเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง กระบวนการเรียนรู้จึงควรอยู่ในทุกๆที่ขององค์การ รวมถึงอยู่ในทุกๆ กระบวนงาน ที่ทุกคนจะต้องร่วมกันเรียนรู้และร่วมกันทำอย่างเป็นระบบ



อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยเขียนไว้ว่า “จิตใต้สำนึกที่สร้างปัญหาจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มันสร้างขึ้นมานั้นได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะมองโลกด้วยจิตสำนึกใหม่” ในทำนองเดียวกัน เราก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาและความท้าทายใหม่ๆบนโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ด้วยโครงสร้าง รูปแบบความคิดเดิมๆ หรือด้วยความรู้ที่เคยใช้ได้ผลในอดีตเช่นกัน



ปัจจุบันคนในองค์การจำนวนไม่น้อยได้ตระหนักชัดแล้วว่า กลยุทธ์ ภาวะผู้นำ ความรู้ และเทคโนโลยีของวันวานไม่สามารถทำให้องค์การประสบความสำเร็จในวันข้างหน้าได้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ประกอบไปด้วย การควบรวมกิจการ การรุดหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ และการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทต้องสร้างสมรรถนะในการเรียนรู้ของตน ถ้าหากต้องการจะประสบความสำเร็จ



บริษัทต่างๆ ตระหนักว่าพวกเขาต้องค่อยๆ พัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของตนให้ดียิ่งขึ้นไป เพื่อที่จะเรียนรู้จากทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลวของตนให้เร็วขึ้น พวกเขาต้องปฏิรูปตนเองไปเป็นองค์การที่ทุกคนสามารถเพิ่มสมรรถนะในการผลิตและในการปรับตัว โดยการก้าวกระโดดแบบควอนตัมอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่สูญพันธ์ไปแบบเดียวกับไดโนเสาร์ ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้



ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 มีองค์การจำนวนหนึ่งที่ได้เริ่มต้นกระบวนการปรับเปลี่ยนเข้าสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ เช่น บริษัท Corning, Federal Express, Ford, General Electric, Motorola และ Pacific Bell ในสหรัฐอเมริกา หรืออย่างABB, Rover และSheerness Steel ในยุโรป รวมถึง Samsung และ Singapore Airlines ในเอเชีย ล้วนแล้วแต่เป็นนักบุกเบิกที่ประสบความสำเร็จ พวกเขามีการเรียนรู้อย่างเป็นระบบไปถ้วนทั่วทุกหนแห่งในองค์การ เป็นผลทำให้เกิดการปรับปรุง และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดไม่ใช่แต่เฉพาะการอยู่รอด แต่มันรวมถึงความสำเร็จอีกด้วย



อย่างไรก็ดี มีบางองค์การที่ได้เริ่มกระบวนการแห่งการเรียนรู้และปรับตัวแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืนได้เพราะพวกเขาไม่พร้อมที่จะสลัดความมั่นคงในรูปแบบที่เคยเป็นในอดีต และในสภาพที่เป็นอยู่ของพวกเขา ก็ไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองไปเป็นองค์การแบบใหม่ – องค์การแห่งการเรียนรู้อย่างเต็มที่ได้ พวกเขาเลือกที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงในแบบที่ไม่รุนแรงและปลอดภัยกว่า อย่างเช่น การทำวงจรคุณภาพ หรือปรับรื้อองค์การ ซึ่งทำให้พวกเขาได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ในองค์การได้ไม่เต็มที่



ชื่อหนังสือ: การพัฒนาองค์การ....แห่งการเรียนรู้



ผู้แต่ง: Michael J. Marquardt



ปีที่พิมพ์: 2548




ไม่มีความคิดเห็น: