เอกการจัดการทั่วไป ปี4
ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์.
ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งกำหนดโดยนักจิตวิทยา ชื่อ มาสโลว์ (Abraham Maslow) เป็นทฤษฎีการจูงใจที่มีการกล่าวขวัญอย่างแพร่หลาย มาสโลว์มองว่าความต้องการของมนุษย์มีลักษณะเป็นลำดับขั้น จากระดับต่ำสุดไปยังระดับสูงสุด เมื่อความต้องการในระดับหนึ่งได้รับการตอบสนองแล้ว มนุษย์ก็จะมีความต้องการอื่นในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
1. ความต้องการทางร่างกาย (physiological needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอด เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อากาศ น้ำดื่ม การพักผ่อน เป็นต้น
2. ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง (security or safety needs) เมื่อมนุษย์สามารถตอบสนองความต้องการทางร่างกายได้แล้ว มนุษย์ก็จะเพิ่มความต้องการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป เช่น ความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความต้องการความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน
3. ความต้องการความผูกพันหรือการยอมรับ (ความต้องการทางสังคม) (affiliation or acceptance needs) เป็นความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เช่น ความต้องการให้และได้รับซึ่งความรัก ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ ความต้องการได้รับการยอมรับ การต้องการได้รับความชื่นชมจากผู้อื่น เป็นต้น
4. ความต้องการการยกย่อง (esteem needs) หรือ ความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นความต้องการการได้รับการยกย่อง นับถือ และสถานะจากสังคม เช่น ความต้องการได้รับความเคารพนับถือ ความต้องการมีความรู้ความสามารถ เป็นต้น
5. ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (self-actualization) เป็นความต้องการสูงสุดของแต่ละบุคคล เช่น ความต้องการที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้สำเร็จ ความต้องการทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เป็นต้น
อ้างอิง : ทฤษฎีองค์การ Organization Theory ฉบับมาตรฐาน
ผู้เขียน ศิริวรรณ เสรีรัตน์, รศ., สมศักดิ์ วานิชยาภรณ์, สมชาย หิรัญกิตติ, รศ.
สำนักพิมพ์ : Diamond In Business World
เดือนปีที่พิมพ์ : 2545
1 ความคิดเห็น:
นายเมธาวี จันทร์อำรุง รหัส 52101025401054
การจัดการทั่วไป
สุภัททา ปัณฑะแพทย์ (2542, หน้า 144) ได้กล่าวถึงแรงจูงใจในการศึกษาว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1. แรงจูงใจเกิดจากความต้องการความสุขส่วนตัว มนุษย์มีความต้องการหา ความสุขให้กับตนเอง หลีกหนีความไม่พึงพอใจ ดังนั้นแรงจูงใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ให้ มนุษย์แสดงพฤติกรรมเพื่อแสวงหาความสมดุล ไม่ว่าจะเป็นในด้านความสุขหรือความเจ็บปวด ซึ่งขึ้นอยู่กับความพอใจแห่งตน
2. แรงจูงใจเกิดจากการตอบสนองสัญชาตญาณ โดยไม่ต้องมีการเรียนรู้ เช่น การตอบสนองต่ออาหารตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางเพศและความเจ็บปวดต่างๆ
3. แรงจูงใจเกิดขึ้นตามเหตุและผล คนเรามีอิสระที่จะกระทำหรือตัดสินสิ่งต่าง ๆ โดยมีเหตุผลและรู้ว่าตนต้องการอะไร ทำให้การตัดสินใจเลือกเป็นแรงจูงใจตามหลักเหตุและผล
4. แรงจูงใจเกิดจากแรงขับ การกระทำที่มนุษย์เลือกกระทำขึ้นอยู่กับความมากน้อยของแรงขับที่จะตัดสินให้เกิดแรงกระทำนั้น ๆ
5. แรงจูงใจเกิดจากการกระตุ้นของอารมณ์ในบางครั้งบุคคลก็จะแสดงพฤติกรรมตามพลังของอารมณ์
สรุปได้ว่า แรงจูงใจในการเลือกศึกษาจะประกอบด้วยความต้องการและ เป้าประสงค์ที่มีลักษณะผสมผสานกันหลายประการ ทั้งด้านเหตุผลส่วนตัว ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านบุคคลที่เกี่ยวข้อง และด้านสถาบัน
สุภัททา ปิณฑะแพทย์. (2542). พฤติกรรมมนุษย์และการพัฒนาตน. กรุงเทพมหานคร: สถาบันราชภัฎสวนสุนันทา, ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว.
แสดงความคิดเห็น