หน้าเว็บ

นางสาวหทัยทิพย์ พรายแก้ว รหัส 5210125401070 การจัดการทั่วไปปี 4



แนวคิดของการพัฒนาองค์การในแง่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์การ

ซึ่งครอบคลุมถึงปฏิสัมพันธ์ของพฤติกรรมต่างๆในองค์การ บรรทัดฐาน ความรู้สึก ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมและเทคโนโลยี (เทคโนโลยีในที่นี้หมายถึง วิธีการ กระบวนการและเครื่องมือที่ใช้ในองค์การ ซึ่งโดยนัยแห่งการพัฒนาองค์การนั้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมักเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาองค์การ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไม่ใช่เป็นสาเหตุที่ต้องการพัฒนาองค์การ)

การพัฒนาองค์การเพื่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์การเป็นความพยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ซึ่งมีความหมายรวมถึงระบบขององค์การที่เป็นทางการ (Formal System) และระบบขององค์การที่ไม่เป็นทางการ (Informal System)

ระบบขององค์การที่ไม่เป็นทางการ (Informal System ) มีองค์ประกอบ เช่น การรับรู้ (Perceptions) ทัศนคติ (Attitudes) ความรู้สึก (Feelings) อันได้แก่ ความโกรธ ความกลัว ความรักใคร่ชอบพอและความสิ้นหวัง เป็นต้น ค่านิยม (Values) ความเชื่อ (Beliefs) การปฏิสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ (Informal Interactions) และบรรทัดฐานของกลุ่ม (Group Norms) เหล่านี้เป็นต้น ส่วนลักษณะของระบบที่เป็นทางการขององค์การ (Formal System) นั้นหมายถึง ข้อกำหนดที่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการและเปิดเผย เช่น วัตถุประสงค์ขององค์การ (Organizational Goals) โครงสร้างขององค์การ (Organizational Structure) นโยบายและแนวทางปฏิบัติ (Organizational Policies and Procedures) เทคโนโลยี (Technology) ผลผลิต (Products) และทรัพยากรด้านการเงิน (Financial Resources) ขององค์การ เหล่านี้เป็นต้น

เวนเดลล์ แอล เฟรนซ์ (Wendell L. French) และ ซีซิล เอช เบลล์ (Cecil H. Bell) ได้อธิบายเปรียบเทียบระบบขององค์การที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการขององค์การว่าเปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง ส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่มักจมอยู่ใต้ผิวน้ำ คือระบบขององค์การที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งผู้บริหารมักจะไม่ได้คำนึงถึงเท่ากับระบบขององค์การที่เป็นทางการ เฟรนซ์และเบลล์เปรียบเทียบระบบขององค์การที่เป็นทางการเสมือนส่วนบนของภูเขาที่ลอยขึ้นอย่างเปิดเผยเหนือน้ำ นอกจากนี้ เฟรนซ์ และ เบลล์ ให้ข้อสังเกตว่าเมื่อการพัฒนาองค์การได้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการจากระบบขององค์การที่เป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ระบบขององค์การที่ไม่เป็นทางการกลับเป็นจุดเริ่มต้นที่การพัฒนาองค์การ ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านทัศนคติ ความรู้สึก ความเชื่อ และค่านิยมขององค์การที่ไม่เป็นทางการ

อ้างอิง หนังสือการพัฒนาองค์การ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2530

ไม่มีความคิดเห็น: